วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เอาความรู้เกี่ยวกับเนื้องอกในสมองมาฝาก

สวัสดีครับ เช้าวันเสาร์วันหยุดของหลายๆคนหลังจากที่ทำงานกันมาทั้งอาทิตย์นะครับ หลายๆ คนก็คงยังไม่ยอมลุกจากเตียงนอนอันแสนจะสบายใช่ไหมครับ แต่สำหรับบางคนที่ต้องทำงานในวันเสาร์ด้วยก็คงออกจากบ้านกันไปแล้ว ขอให้ทำงานให้สนุกและสำหรับคนที่ได้พักผ่อนก็ขอให้มีความสุขกับวันหยุดนะครับ สำหรับวันนี้ผมขออนุญาต (อย่างไม่เป็นทางการ) นำบทความที่เขียนโดยแพทย์เกี่ยวกับเนื้องอกในสมองจากเว็บแห่งหนึ่งมาให้อ่านกันครับ ซึ่งผมเห็นว่ามีประโยชน์ และขอแนะนำให้ผู้อ่านที่สนใจลองเข้าไปอ่านดูตามอัธยาศัยนะครับ ที่ http://www.thaibraintumor.com/ ครับ

เกี่ยวกับเนื้องอกในสมองที่คุณหมอศรัณย์ (ซึ่งท่านจะเป็นคนผ่าตัดเนื้องอกในสมองของพี่สาวในวันจันทร์ที่ 29 นี้ด้วย) ได้เขียนไว้ ผมขอยกเอามาสั้นๆ ดังนี้ครับ

- "การรักษาเนื้องอกในสมองมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ  คือ  การผ่าตัด,   การฉายรังสี,   และการให้ยา ในบางครั้งอาจจะต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

- การผ่าตัด เป็นวิธีหลักของการรักษาเนื้องอกในสมองส่วนใหญ่   ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการเจาะดูด  เอาเนื้องอกมาตรวจวินิจฉัย   ผ่าตัดเนื้องอกออกบางส่วนหรือผ่าตัดเนื้องอกออกทั้งหมด ถ้าเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำผ่าตัดออกได้  โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แพทย์มักจะพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกนั้นจนหมด  หรือออกให้ได้มากที่สุด  เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญ  และมีความละเอียดอ่อนมาก  จึงต้องอาศัยอุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่น ในปัจจุบันมีการทำผ่าตัดโดยจุลศัลยกรรม (Microneurosurgery)   ทำให้สามารถมองเห็นจุดเล็กๆ ในสมองส่วนที่อยู่ลึกได้   มีการนำเครื่องนำวิถี (Navigation) มาใช้เพื่อช่วยให้การผ่าตัดสมองมีความแม่นยำมากขึ้น  มีการทำผ่าตัดร่วมกับเอกซเรย์แม่เหล็กในห้องผ่าตัด (Intraoperative MRI) เพื่อช่วยให้ผ่าตัดเนื้องอกออกได้มากขึ้น หรือมีการทำผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Neuroendoscopic surgery) เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ในบางครั้งเนื้องอกในสมองอาจอยู่ในตำแหน่งที่มีอันตรายต่อการทำผ่าตัด และอาจมีการทำผ่าตัดโดยที่ผู้ป่วยยังคงรู้ตัวไม่สลบระหว่างผ่าตัด เพื่อที่แพทย์จะสามารถหาตรวจหาตำแหน่งการทำงานของสมองไปได้ด้วยระหว่างการผ่าตัด (Awake craniotomy and brain mapping)  อนึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และเป็นที่คาดหมายได้ว่าในอนาคตจะมีอุปกรณ์และเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพ  และความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ มักจะมีราคาแพง  และต้องจัดซื้อหาจากต่างประเทศทำให้เป็นภาระทั้งต่อผู้ป่วย และประเทศชาติ ดังนั้นจึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสม

- การฉายรังสี  มักจะใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติม  หลังการผ่าตัดเนื้องอกในสมองบางอย่างที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด  และในบางกรณี สามารถใช้เป็นวิธีการรักษาหลัก 
การฉายรังสีรักษาเนื้องอกในสมองนั้นในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมาก  มีการนำเทคนิคการฉายรังสีวิธีใหม่ที่เรียกว่า การฉายรังสีรักษา 3 มิติมาใช้  ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างของลำรังสีได้  ตามรูปร่างของก้อนเนื้องอก  ทำให้ได้ปริมาณรังสีรวมสูงสุดอยู่ที่ก้อนเนื้องอกเพียงตำแหน่งเดียว  โดยที่สมองส่วนอื่นๆ ได้ปริมาณรังสีน้อยมาก   เทคนิคนี้ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีที่ก้อนเนื้องอกได้สูงขึ้นมาก  ซึ่งในบางครั้งอาจจะสามารถฉายรังสีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น (Radiosurgery)   ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางรังสีรักษาในการรักษาเนื้องอกในสมองในขณะนี้


- การให้ยา เนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรงบางชนิด  สมควรได้รับการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด  และเนื้องอกในสมองของต่อมใต้สมองบางชนิด  สามารถรักษาโดยการให้ยาควบคุมการสร้างฮอร์โมน  ในปัจจุบันยาเคมีบำบัดบางตัวมีราคาแพงมาก  และไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือบัตรทอง จึงเป็นอุปสรรคทำให้เป็นภาระหนักต่อผู้ป่วย  หรือทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้"

จะเห็นว่ามีวิธีการรักษาที่ต่างกันหลายวิธีนะครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของโรคเป็นหลัก สำหรับคนที่เป็นโรค VHL แล้ว วีธีการหลักที่ใช้ได้แก่การผ่าตัดครับ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาในครอบครัวก็มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซนต์ครับ

สำหรับวันนี้ขอให้ทุกคนมีความสุข แล้วพบกันคราวหน้านะครับ สวัสดีครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น