วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำถามที่เตรียมไว้ถามคุณหมอ เตรียมไว้เวลาไปพบหมอบ้างก็ดีนะครับ

สวัสดีครับ ผมหยุดเขียนไปหลายวันเพราะช่วงนี้มีงานต้องทำเยอะ กลับบ้านก็ดึก แล้วบางทีต้องไปต่างประเทศด้วยครับ ที่เล่าให้ฟังว่าทำงานมากและไปต่างประเทศด้วยก็เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบางท่านที่อาจจะสงสัยว่าคนเป็นโรคนี้ และโดยเฉพาะที่ผ่านการผ่าตัดมาหลายครั้งแล้ว จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่? คำตอบคือได้แน่นอนครับ ตัวอย่างเช่นตัวผมเอง และสมาชิก พี่ๆ น้องๆ ในครอบครัวด้วยครับ ที่ตอนนี้ทุกคนยังใช้ชีวิตอย่างสุขสบายดีตามอัตภาพ กินได้ปกติ ออกกำลังกายก็ได้ตามปกติ และแน่นอน เดินทางเที่ยวได้เหมือนเดิมครับ ภาพแรดสองตัวที่น่ารักนี้ก็ถ่ายมาไม่นานมานี้ตอนที่ผมกับครอบครัวไปเที่ยวกันที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรีครับ เป็นแรดที่ตัวโตและเชื่องมาก น่ารักครับ ยอมให้จับโดยไม่คิดตังค์ แฮ่ะๆ... เอารูปมาลงให้ดูเผื่อท่านใดอยากไปพักผ่อนหย่อนใจช่วงวันหยุดก็น่าสนใจครับ ไม่ไกลจากกรุงเทพด้วย ดูสัตว์แล้วอาจจะแวะไปเที่ยวทะเลดูปู ดูปลาต่อก็ได้ครับ ดูแล้วหิวก็หม่ำเลยครับ... ฮ่าๆ ไปหม่ำที่ร้านนะครับ

ก่อนเข้าเรื่องหลัก เอาเรื่องรองๆ นิดๆก่อนนะครับ คือเค้าบอกว่าผู้ป่วย VHL ที่จริงแล้วมีโอกาสดีกว่าผู้ที่เป็นมะเร็งจากสาเหตุอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่งครับ นั่นก็คือว่า ถ้าเราสามารถตรวจพบมันก่อน คือพบตอนที่มันเกิดอาการขึ้นไม่นานนัก เราก็มีโอกาสที่จะได้รับการวินิจฉัย และตรวจรักษาที่ได้ผลดีมากๆ นะครับ ดังนั้นคงไม่ต้องตกใจมาก และกลัวจนเกินเหตุไปครับ เตรียมตัว เตรียมใจ และบางทีอาจต้องเตรียมเงินไว้หน่อยก็ดีครับ สำหรับเรื่องเงินและอาจลามไปถึงเรื่องประกัน เอาไว้โอกาสหน้าผมจะมาเล่าให้ฟัง จากประสบการณ์ตรงนะครับ

ที่จริงแล้วเค้าแนะนำว่า เราอาจจะไปหาหมออีกสองสามที่ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเราเป็นโรค VHL หรือเปล่า เพื่อเป็นการยืนยันให้แน่นอนขึ้นครับ ก็เหมือนกับโรคอื่นๆ เช่นกัน ที่บางครั้ง ท่านก็ต้องการไปตรวจที่อื่นอีกเพื่อความมั่นใจว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ ก่อนที่จะปักใจและทำการรักษา ซึ่งบางทีบางท่านอาจจะไม่ค่อยสะดวกนักกับการไปรับการรักษาที่ไกลๆ หรือเรื่องอะไรก็ตามแต่ วันนี้มีคำแนะนำที่เค้าบอกว่าเวลาไปหาหมอให้เตรียมคำถามเหล่านี้ไปถามด้วย ลองอ่านดูนะครับ ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลตัวเองของท่านทั้งนั้นครับ

- จะต้องเปลี่ยแปลงการดำเนินชีวิตประจำวันหรือไม่?
- จะต้องไปเข้ารับการตรวจบ่อยแค่ไหน?
- จะต้องเฝ้าระวังอาการอะไรบ้าง?
- ถ้าแพทย์บอกขนาดของเนื้องอกที่เกิดขึ้น ท่านอาจถามต่อว่าแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป?
- เป็นมากน้อยแค่ไหนถึงจะถือว่าหนัก?
- การรักษามีวิธีการอย่างไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงของการรักษามีหรือไม่?
- ถ้าไม่ทำการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อไป? (เนื้องอก หรือ ซีสต์จากโรคนี้สามารถขึ้นได้หลายๆ ที่ ซึ่งแต่ละที่ก็แสดงอาการไม่เหมือนกัน บางที่อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก ในขณะที่บางที่อาจต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เมื่อถึงระยะหนึ่ง เป็นต้น)
- ใครคือแพทย์ที่เราควรจะทำการปรึกษาต่อเนื่อง (จากทีมแพทย์ทั้งหมด)?

ที่จริงยังมีอีกหลายคำถาม ทั้งนี้ทั้งนั้นการถามก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นะครับ ว่าเป็นอย่างไร ทุกท่านคงพิจารณาเอาเองนะครับ ผมหวังว่าทุกท่านจะมีสุขภาพที่ดี มีกำลังใจที่เข้มแข็ง ต่อสู้กับทุกอย่างอย่างทรหด ไม่ว่าจะเรื่องอะไรนะครับ ผมเชื่อว่าถ้าเราอยู่อย่างมีสติ มีธรรมะในใจ ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไร ท่านก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยจากความทุกข์ทั้งหลายครับ ความสุข และสงบในใจย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ขอให้มีความสุขทุกคนครับ สวัสดีครับ...

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เนื้องอก... ยังไม่ถึงเวลาก็ไม่จำเป็นต้องไปจัดการกับมัน...

วันนี้เริ่มด้วยภาพสวยๆกันครับ เจ้าดอกไม้ที่เห็นนี้ก็คือดอก Dandelions ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันว่าชื่อภาษาไทยมันคืออะไร ที่เอามาให้ดูเพราะว่าวันนี้จะเขียนถึงเจ้าดอกไม้อันสวยงามนี้ด้วยครับ คือเค้าบอกว่า เซลล์เนื้องอกหรือซีสต์ที่เกิดขึ้นนี้ถ้ามันยังไม่ถึงเวลาก็ไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัดเอามันออก เปรียบเหมือนกับเจ้าดอก Dandelions นี้ ที่เมื่อยังไม่ถึงเวลา ดอกมันก็จะยังอ่อน และมีสีเขียวๆ อยู่ ซึ่งจะยังไม่พร้อมที่เอาไปทำอะไรหรือจะแพร่พันธุ์ได้ แต่เมื่อมันแก่ได้ที่จนมีสีเหลือง มันก็พร้อมที่จะเอาไปทำประโยชน์หรือแพร่พันธุ์ได้ต่อไป ก็เช่นเดียวกับเซลล์เนื้องอกต่างๆ เมื่อมันเพิ่งเริ่มเกิด ยังเล็กอยู่ มันก็ยังไม่มีอันตราย แต่ถ้ามันเติบโตขึ้นถึงระดับหนึ่ง มันก็จะเริ่มสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับอวัยวะที่มันเกาะอยู่ หรือกับร่างกายต่อไป เมื่อนั้นแหละครับที่ต้องจัดการกับมัน

โดยปกติเราไม่ทราบหรอกครับว่าเมื่อไรต้องจัดการ ยกเว้นว่าเราจะปวดจนสังเกตได้ถึงความผิดปกติ ดังเช่นกรณีของผมที่ปวดศีรษะจนทนไม่ได้ หรือตอนที่ปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นต้นครับ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องระมัดระวัง หมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และปรึกษาแพทย์ถ้าพบว่าตัวเองมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ (เนื่องจากมีประวัติของครอบครัวเป็นโรคนี้ เป็นต้น) นะครับ ซึ่งในกรณีของครอบครัวผมแพทย์ก็จะแนะนำให้ไปตรวจโดยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับอาการที่เกิด และแนวโน้มกับอวัยวะที่อาจจะเกิดครับ

วันนี้เป็นวันหยุดสบายๆ หวังว่าทุกท่านคงมีความสุขกันทุกคนนะครับ ผมก็อยากจะให้กำลังใจกับคนที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นเพราะญาติพี่น้องเป็นกันนะครับ ขอให้มีสติและมีกำลังใจที่ดี เข้มแข็ง ไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับเรา แต่ควรเสียเวลาไปกับการคิด ใตร่ตรองดูว่าเราจะทำอย่างไรต่อไปมากกว่า ถ้าไม่แน่ใจว่าเรามีโอกาสเป็นหรือไม่ก็คงต้องปรึกษาแพทย์เท่านั้นครับ สำหรับตอนนี้ถ้าจะให้แนะนำ ก็ต้องบอกว่าให้ไปพบคุณหมอชนินทร์ ลิ่มวงศ์ ที่โรงพยาบาลศิริราชครับ เพราะคุณหมอตรวจรักษาคนไข้โรคนี้มาเยอะ รวมทั้งครอบครัวผมด้วย ผมมั่นใจว่าท่านจะได้รับคำตอบที่ดีแน่นอนครับ

สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ...

VHL ในตับอ่อน เป็นอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับเบาหวานอย่างไร? มาดูกรณีของผมกันครับ

ขึ้นเรื่องมาก็เป็นภาพควายสุดสวยเลยนะครับ พอดีนึกถึงรูปเจ้าควายตัวนี้ที่ไปเจอตอนไปตลาดน้ำอโยธยาที่อยุธยาครับ เค้าโฆษณาว่าเป็นควายที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก! ไปเห็นแล้วก็ตัวใหญ่จริงๆ ครับ แต่ไม่ทราบว่าใหญ่ที่สุดในโลกหรือเปล่า? ไม่เป็นไรครับ คงไม่ต้องเสียเวลาไปหาคำตอบเพราะสิ่งที่ได้จากการไปเที่ยวคราวนั้นก็คุ้มค่า สนุกสุขใจพอแล้วครับ

เข้าเรื่องกันเลยครับ บางคนอาจจะสงสัยจากหัวเรื่องว่าเจ้าโรค VHL นี้มันเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานได้อย่างไรกันหนอ? นั่นสิครับ แต่ก็เป็นไปแล้วครับ หลักฐานจากตัวผมนี่แหละ และจากเอกสารวิชาการก็เขียนไว้ชัดเจนครับ ว่าเกี่ยวข้องกับเบาหวานได้ สาเหตุก็เกิดจากเนื้องอกหรือถุงน้ำ (ต่อไปจะเรียกว่า ซีสต์ ,Cyst, นะครับ) ที่เกิดขึ้นที่ตับอ่อนครับ ซึ่งเราอาจจะทราบกันดีว่าหน้าที่อย่างหนึ่งของตับอ่อนที่นอกจากจะสร้างน้ำย่อยแล้ว ยังสร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) อีกด้วย ซึ่งการเกิดซีสต์หรือเนื้องอกที่ตับอ่อนอาจจะไปขัดขวางทางเดินของของเหลวที่สร้างจากตับอ่อนซึ่งรวมถึงฮอร์โมนอินซูลินนี้ด้วย ผลที่ตามมาก็คือเป็นเบาหวานครับ ก่อนเข้าสู่รายละเอียดต่อไปผมต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่แพทย์ดังนั้นข้อความที่ผมเขียนจึงไม่ได้เป็นข้อความที่จะรับรองความถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ในทางวิชาการการแพทย์ครับ เพียงแต่ว่าเป็นประสบการณ์และความรู้จากการพูดคุย ปรึกษาแพทย์เนื่องจากผมเป็นโรคเอง และจากการศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ทางวิชาการต่างๆครับ หากผู้อ่านท่านใดต้องการเอาไปใช้อ้างอิงผมแนะนำให้ไปค้นคว้าจากเอกสารที่เผยแพร่โดยตรงจากแพทย์ หรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงนะครับ ที่ผมเขียนตรงนี้จุดประสงค์คือต้องการจะถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงมากกว่า และเป็นการพูดคุยกันแบบเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆครับ ต่อกันเลยละกันครับ..

อาการผิดปกติที่ตับอ่อนจากโรค VHL สามารถพบได้ในแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันครับ บางครอบครัวที่เป็นโรคนี้อาจจะไม่พบอาการที่ตับอ่อนเลย ในขณะที่บางครอบครัวอาจพบได้ถึง 93% เลยทีเดียว และส่วนใหญ่แล้วโรค VHL ที่ตับถ้าเป็นแค่ซีสต์มักไม่มีอาการอะไรครับ ถึงแม้ซีสต์นั้นจะมีขนาดใหญ่ก็ตาม ยกเว้นว่าจะเป็นเนื้องอกซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆได้ แต่บางครั้งถ้าซีสต์นั้นมีขนาดที่ใหญ่มากๆก็อาจจะไปเบียดกระเพราะอาหารได้ ซึ่งก็จะทำให้รู้สึกไม่สบาย และอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อไป

เนื้องอกที่ตับอ่อน ตามปกติแล้วถ้ามีขนาดไม่ใหญ่เกินไป ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออก ยกเว้นว่ามันจะอยู่ในตำแหน่งที่จะไปขัดขวางทางเดินของของเหลว พวกน้ำย่อยหรือฮอร์โมนต่างๆที่สร้างจากตับอ่อนทำให้ไม่สามารถจะไหลไปตามท่อได้ตามปกติ จึงต้องทำการปรึกษาแพทย์ (ที่จริงเราไม่ทราบตั้งแต่แรกแล้วครับ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเองครับ) ซึ่งการที่บางครั้งเจ้าเนื้องอกนี้ไปขัดขวางทางเดินของฮอร์โมนอินซูลินก็จะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานได้ครับ ดังเช่นตัวผมเองเป็นต้น ผมเป็นเบาหวานตั้งแต่เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วครับ ที่ทราบเพราะน้ำหนักลดอย่างกระทันหัน และแพทย์ซึ่งรักษาโรค VHL ของผมอยู่ท่านบอกให้มาตรวจเบาหวาน นั่นแหละครับถึงได้ทราบว่าเป็น น้ำตาลตอนนั้นวัดได้ 300 กว่า ซึ่งก็รักษาด้วยการทานยาทันทีต่อเนื่องมาจนวันนี้ครับ จนถึงตอนนี้ผมก็ยังควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ยังอยู่ที่ 150-160 อยู่เลย น้ำตาลสะสมก็อยู่ที่ 8.5 ซึ่งถือว่าควบคุมได้ไม่ดีครับ ต่อกันเรื่องวิชาการอีกนิด สำหรับอาการอื่นๆที่ท่านต้องสังเกตตัวเองว่ามีหรือไม่เพราะอาจเกี่ยวข้องกับโรค VHL ที่ตับอ่อนก็คือ อาการตัวเหลือง ปวดเมื่อย ท้องเสียผิดปกติ (อาจจะไม่ใด้เกิดจากการกินอาหารไม่สะอาด) เป็นต้น เห็นท่าไม่ดีก็ต้องรีบไปพบแพทย์นะครับ

ตอนนี้ตัวผมเองก็พยายามออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน ซึ่งหลายๆครั้งก็ทำไม่ได้ แต่ก็ยังทำต่อไป สนุกดีครับ... แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าซึ่งบางตอนก็อาจจะเอาเรื่องทั่วๆไปมาเขียน อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ สวัสดีครับ...

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ก็คนมีความสุข ถึงจะเป็นอะไรก็มีความสุข ขนาดเป็น VHL ก็เป็นอย่างมีความสุขได้เลย

ผมเพิ่งกลับจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพเมื่อคืนนี้เองครับ ไปทำงานของบริษัทครับ คราวนี้ได้กลับไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันที่ได้ให้ความรู้และทุกๆอย่างกับผมในช่วงที่ศึกษาปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วครับ ความรู้สึกที่ได้กลับไปมหาวิทยาลัยอีกครั้งเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ อบอุ่นและรู้สึกอยากจะทำอะไรเพื่อตอบแทนกลับคืนสู่สถาบันที่ได้อบรมสั่งสอนเรามา จนทำให้เรามีวันนี้ครับ ซึ่งนอกจากจะได้พบเจอเพื่อนเก่าที่เป็นอาจารย์ พี่ๆ และอาจารย์ท่านอื่นๆแล้ว ผมยังรู้สึกมีความสุขสงบเล็กๆ ขึ้นในใจที่ได้ไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพด้วย การได้ไหว้พระและอยู่กับความสงบเงียบแม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็ช่วยทำให้จิตใจสงบและเป็นพลังกับชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์เหมือนกันนะครับ

ที่จริงแม้ขณะนี้ตัวผมเองก็ยังไม่หายดีจากแผลผ่าตัดที่หน้าท้องที่เป็นรอยยาวสองรอยเฉียงๆจากกลางลำตัวใต้หน้าอกยาวออกไปด้านข้างถึงขอบเอวเหมือนโดนดาบสองมือฟันทีละดาบ (น่าหวาดเสียว อย่าจินตนาการตามมากนะครับ) จากการผ่าตัดต่อมหมวกไตขวาและไตซ้ายเลยครับ ยังเจ็บและรู้สึกตึงๆที่แผลทั้งภายนอกและภายในอยู่ตลอดเวลา แต่ผมคงไม่เสียเวลากับการมัวเพ่งดูมันหรอกครับ ผมไปทำงานหลังออกจากโรงพยาบาลครั้งที่สองได้เดือนกว่าๆ ซึ่งที่จริงแผลจากการผ่าตัดครั้งแรกยังไม่หายดีเลย แม้จนตอนนี้ซึ่งผ่านมาแล้วกว่าหกเดือนก็ตาม ซึ่งผมก็ได้เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศด้วยมาหลายครั้งแล้ว ผมไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรครับ เพราะคิดว่าถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินผมคงทนได้ในระหว่างการดิ้นรนมาให้ถึงโรงพยาบาลศิริราช ถ้าเรามัวแต่กลัวก็คงไม่ได้ทำอะไร จริงไหมครับ แล้วในความเป็นจริงเราก็ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว และอาจเผื่อแผ่ไปยังคนอื่นๆตามความสามารถเหมือนๆกันกับคนอื่นๆทุกคน ตราบใดที่ยังทำได้ก็ทำครับ ผมเชื่อว่าผมยังโชคดีกว่าอีกหลายๆคนที่อาจจะมีสภาพที่แย่กว่าผมแต่ก็ยังต่อสู้อย่างทรหดและไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาอะไรทุกอย่าง ยอมแพ้ทำไมครับ ไม่มีประโยชน์... จริงไหมครับ

วันนี้ผมมีบทความสั้นๆ ที่เขียนโดย Jon Kabat-Zinn จากสหรัฐอเมริกา มาฝากครับ อ่านแล้วน่าสนใจมาก สร้างพลังได้อย่างดี ถอดความได้ประมาณนี้ครับ

          "เราสามารถใช้ศักยภาพภายในที่เรามีอยู่ในการเรียนรู้ที่จะแปรอุปสรรคทั้งหลายให้เป็นพลังผลักดันให้เราต่อสู้ฝ่าฟันจนผ่านพ้นอุปสรรคนั้นๆได้ อุปมาดั่งกลาสีเรือที่ใช้แรงลมเป็นตัวขับเคลื่อนให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการได้ดั่งใจ"
          "เราอาจจะไม่สามารถแล่นเรือฝ่ากระแสลมเข้าไปได้ และถ้าเรารู้จักแค่การใช้แรงลมที่พัดมาจากด้านหลัง เราก็จะได้แต่แล่นไปในทิศทางที่ลมพัดไป แต่ถ้าเราฉลาดและเรียนรู้ที่จะใช้พลังจากแรงลมที่พัดพารวมทั้งมีความอดทนเพียงพอ เราก็จะสามารถบังคับเรือให้แล่นไปในทิศทางที่ต้องการได้ เราควบคุมมันได้!"
          "ถึงแม้เราจะไม่สามารถควบคุมลมฟ้าอากาศได้ แต่นักเดินเรือที่ดีก็จะต้องเรียนรู้และยอมรับในพลังของมัน หลีกเลี่ยงที่จะต้องตกอยู่ในท่ามกลางพายุ แต่บางทีถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็จะต้องรู้ว่าเมื่อใดที่จะต้องลดใบเรือลง เมื่อไรที่จะต้องปิดดาดฟ้าเรือ ทิ้งสมอ หรือจะต้องสละทิ้งสิ่งของทรัพย์สมบัติต่างๆที่ไม่จำเป็นออกไปเสีย ทำเท่าที่จะทำได้ พร้อมกันนั้นก็ต้องยอมรับ ปล่อยวางในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ซะ"
          "ศิลปะของการใช้ชีวิตอย่างมีสติรู้ทันก็คือการพัฒนาความรู้ความสามารถให้พร้อมในการที่จะเผชิญหน้าและจัดการกับทุกๆสถานการณ์ในชีวิต"

อ่านแล้วรู้สึกถึงพลังฮึกเหิมเกิดขึ้นภายในบ้างไหมครับ? ถ้าไม่รู้สึกก็แสดงว่าฝีมือการถอดความของผมยังละอ่อนไปหน่อยนะครับ คือผมพยายามที่จะไม่แปลตรงๆตามตัวอักษรเพราะแปลออกมาแล้วมันอ่านไม่รู้เรื่องครับ ก็เลยแปลออกมาตามความหมายดีกว่าครับ ที่จริงถ้าจะให้มันขึ้นไปอีกก็อาจจะต้องยืมสำนวนจากนิยายกำลังภายในใส่เข้าไปอีก ซึ่งก็จะเพี้ยนไปครับ

ผมเชื่อว่าทุกท่าน ทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็น ต่างก็มีปัญหาอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันก็ตรงรายละเอียดของปัญหา และผมก็เชื่อว่าหลายๆท่านก็สามารถรับมือกับเรื่องราวต่างๆเหล่านั้นได้อย่างดีครับ สำหรับตัวผมเองก็กำลังพยายามที่จะเรียนรู้และต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็ท้อแต่ก็บอกกับตัวเองว่าอย่าท้อนานครับ เสียเวลา

ได้เวลาต้องสนุกกับชีวิตอันสั้นๆ น้อยๆนี้แล้วครับ... สวัสดีครับ...

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไปหาหมออย่าไปคนเดียวนะครับ... ทำไม?

มีฝรั่งคนหนึ่งครับที่เป็นโรคนี้ได้เขียนความเห็นส่วนตัวว่าในครอบครัวของเขา จะไม่ไปพบแพทย์โดยลำพังคนเดียว และได้แนะนำว่าควรจะมีคนไปด้วย ทำไมเหรอครับ? ก็เพราะว่า ถ้ามีข่าวไม่ดี (เช่นผลการตรวจออกมาว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น) สมองก็จะหยุดการรับรู้ชั่วขณะ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลที่แพทย์ให้อย่างต่อเนื่องในขณะนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นไปสองคนดีกว่าครับ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้เป็นโรคด้วย เพราะอย่างไรเสียอีกคนก็จะฟังอยู่ในขณะที่เราอาจจะตื้อหรือช็อกไปชั่วขณะ (กับข่าวร้าย) ครับ หรือถ้าไม่มีคนไปด้วยจริงๆก็อาจจะเอาเครื่องบันทึกเสียงไปอัดเสียงตอนที่พบแพทย์ด้วยก็ได้ครับ แล้วเอามาเปิดฟังทีหลัง ซึ่งเค้าบอกว่าก็จะได้ข้อมูลแบบที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็ได้ ผมเห็นด้วยครับกับคำแนะนำนี้ เพราะตอนที่ผมเองทราบผลการตรวจว่าดูเหมือนจะเป็นมะเร็ง ผมก็ตื้อไปเหมือนกัน สมองมันติดอยู่ตรงคำว่ามะเร็งอยู่นานทีเดียว ทุกคนกลัวมะเร็งครับ เพราะจากที่เราเห็นกันมา คนที่เป็นมะเร็งมีโอกาสที่จะแย่ลงมากกว่าดีขึ้นนี่ครับ

ถึงอย่างไรก็ใจเย็นๆนะครับ คนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดามากกว่า ซึ่งการผ่าตัดธรรมดาอย่างทันท่วงทีก็สามารถจัดการได้แล้วครับ กำลังใจต้องดีอยู่เสมอ ถึงตรงนี้ผมก็คงจะแนะนำอย่างเดิมครับ ว่า ให้มีสติ รู้ทันร่างกายและจิตใจ ทำใจยอมรับ และสู้กับมัน ก็ที่จริงมันไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงจะไม่สู้นี่ครับ

แล้วพบกันใหม่นะครับ ถ้าอยากอ่านเรื่องอะไร สามารถแนะนำกันได้นะครับ เพราะถ้าไม่มีคำแนะนำอะไรผมก็จะเขียนไปตามที่คิดเอาเองว่าผู้อ่านทั้งหลายอยากรู้ ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะถูก อย่าลืมนะครับ รักษาอารมณ์ให้แจ่มใสและออกกำลังกายเมื่อมีโอกาสนะครับ ความขี้เกียจไม่ได้ช่วยอะไรครับ... สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

VHL ในไต อย่าได้นิ่งนอนใจครับ โอกาสเป็นสูงและอันตรายนะครับ

วันนี้เป็นวันหยุดสบายๆ ผมอยู่บ้านครับ เมื่อวันเข้าพรรษาที่ผ่านมาผมกับครอบครัวได้ไปทำบุญที่วัดกันครับ เอาอาหารไปถวายพระและยังเอาเทียนพรรษาไปถวายวัดด้วย ทึ่จริงในวัดก็มีไฟฟ้าใช้แล้วครับ แต่ว่าเป็นประเพณีตั้งแต่โบราณนานมาแล้วที่เราจะเอาเทียนไปถวายวัดกันในช่วงวันเข้าพรรษา สมัยก่อนก็เพื่อให้พระไว้ใช้จุดให้แสงสว่างด้วยครับ แต่สมัยนี้ก็มักจะใช้สำหรับจุดบูชาพระประธานในโบสถ์ครับ ได้ทำแล้วก็สบายใจ มีความสุข ความสงบเกิดขึ้นในใจ ตอนแห่เทียนรอบโบสถ์ก็สนุกไปอีกแบบนะครับ

วันนี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องโรค VHL ที่ขึ้นที่ไตครับ ตัวผมเองก็ผ่าตัดไตซ้ายออกไปแล้วเพราะเป็นมะเร็ง นอกจากนั้นต่อมหมวกไตขวาก็โดนตัดไปด้วย สำหรับต่อมหมวกไตขวาผมเป็นเนื้องอกครับ ภาษาแพทย์ก็เรียกชื่อว่า Pheochromocytoma ซึ่งที่จริงมีโอกาสพบได้ 10-20 % ในผู้ป่วยโรค VHL ครับ สำหรับอาการและผลของเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตผมคงจะมาเล่าให้ฟังกันที่หลังครับ วันนี้เอาเรื่องไตก่อนนะครับ ซึ่งผมเพิ่งได้รับการผ่าตัดไตซ้ายทิ้งไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เองครับ ตอนนี้อาการทั่วไปก็ปกติครับ ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติดีครับ แต่ผมก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินรวมทั้งต้องออกกำลังกายให้มากด้วยเพราะผมยังเป็นเบาหวานด้วยครับ เจ้าโรคเบาหวานนี้จากที่อ่านจากเอกสาร เค้าบอกว่าก็มีสาเหตุมาจากโรค VHL นี้ได้เหมือนกันครับ จากการที่เนื้องอกในตับอ่อนไปเบียดบังทางเดินของอินซูลินเลยทำให้ร่างกายได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ ซึ่งก็คงจะเล่าในตอนหน้าๆครับ เขียนมาตั้งนานยังไม่ได้เข้าเรื่องไตเลย เอาละครับ...

เนื้องอก หรือซีสต์ในไตมักพบได้ในสัดส่วน 25-60% ของผู้ป่วยโรค VHL นี้ครับ ก็นับว่าสูงอยู่เหมือนกัน ดังนั้นทุกท่านที่มีโอกาสหรือมียีน VHL ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะครับ ควรจะใส่ใจและหาโอกาสไปตรวจอยู่เสมอ เพราะโดยปกติ เมื่อเป็นเนื้องอกที่ไตในระยะแรกเริ่มจะไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกายใดๆ ครับ หรือแม้กระทั้งการตรวจปัสสาวะเองก็อาจบอกไม่ได้ครับ การตรวจที่จะบอกได้ก็ได้แก่ การตรวจ อุลตราซาวนด์ (ultrasound) การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography หรือ CT) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance emaging (MRI)) ครับ ซึ่งปัจจุบันนี้โรงพยาบาลใหญ่ๆ มักมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่พร้อมครับ โดยเฉพาะการตรวจอุลตราซาวนด์ ซึ่งใช้ในการตรวจผู้ตั้งครรภ์ด้วย ผมเข้าใจว่าน่าจะมีอยู่แทบทุกโรงพยาบาลมาตรฐานทั่วไปครับ มาต่อเรื่องไตอีกนิด ไตคนเรามีขนาดว่ากันง่ายๆก็ประมาณกำปั้นของเราครับ มีหน้าที่หลายอย่างที่ล้วนสำคัญกับร่างกายของเราทั้งสิ้น คนเราทุกคนมีไตคนละสองข้างครับ ถ้าเราถูกตัดไปแล้วข้างหนึ่ง เหลือไตอยู่ข้างเดียวเราก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิมทุกประการครับ เพียงแต่ว่าเราก็อาจจะกังวลมากขึ้น เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่าข้างที่เหลืออยู่มันจะทำหน้าที่ได้แบบปกติไปน่านเท่าไร แต่ก็ไม่ควรไปกังวลมากเกินไปครับ ทำในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้ดีที่สุดเพื่อที่จะรักษามันไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดครับ ความกังวลมากเกินไปไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาได้หรอกนะครับ ความรู้ความเข้าใจและอยู่กับความเป็นจริงต่างหากที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอดไป

สำหรับอาการที่พบที่ไตมักจะเป็นเนื้องอก (tumor) ได้มากกว่าถุงน้ำ (cyst) ครับ และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เรียกว่า renal cell carcinomas (RCC) ครับ ซึ่งแต่ก่อนเค้าเรียกว่า hypernephroma ครับ สำหรับชื่อภาษาอังกฤษก็ไม่ควรไปกังวลอะไรมากครับ ผมเพียงแต่เห็นว่าเป็นประโยชน์ตอนอ่านจากต้นตำรับภาษาอังกฤษก็เลยเอามาเขียนไว้เผื่อบางคนจะสนใจและไปค้นคว้าเพิ่มเติมเองครับ สำหรับอาการเริ่มแรกเหมือนที่เขียนไปตอนต้นๆแล้วว่าจะยังไม่ปรากฎครับ จนกว่าเจ้าเนื้องอกนี้จะโตมากถึงระดับหนึ่งนั่นแหละครับ ซึ่งเมื่อเป็นระยะแรกๆนี้แพทย์ก็มักจะยังไม่ทำอะไรหมายถึงยังไม่ทำการผ่าตัดให้ครับ โดยที่เจ้าเนื้องอกที่ไตนี้ก็จะยังไม่เป็นอันตรายอะไรเหมือนกัน ในทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่แนะนำโดยวงการแพทย์ทั่วโลกก็คือว่าถ้าเนื้องอกมีขนาดเกิน 3เซนติเมตร ก็จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดออกครับ ซึ่งในคนที่มีก้อนเนื้องอกหลายๆ ก้อนที่ไตพร้อมๆกัน แพทย์ก็คงจะผ่าตัดออกเท่าที่จำเป็น เพราะถ้าเอาออกหมดในคราวเดียวนอกจากตัวไตเองจะทนไม่ได้แล้วตัวเราเองก็คงทนกับบาดแผลไม่ได้เหมือนกันครับ และก็คงต้องลาโลกไปก่อนวัยอันควรครับ ... แฮ่ะๆ สำหรับกรณีของผมซึ่งเป็นมะเร็งที่ไตซ้ายเนื่องจากโรค VHL นี้ ยังโชคดีที่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นครับ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะตรวจหาเนื้องอกหรือมะเร็งที่ไตให้พบก่อนที่มันจะแพร่กระจายไปที่อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเจ้ามะเร็งที่ไตจากโรคนี้สามารถตรวจพบได้เร็วกว่ามะเร็งทั่วไป (เหตุผลหลักก็ไม่ทราบครับ คงต้องปรึกษาแพทย์หรือหาความรู้เพิ่มเติมกันอีกทีเอาเองนะครับ ขออภัยครับ) ซึ่งก็แน่นอนเมื่อเราตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสในการรักษาให้หายหรือผ่าตัดก็มีมากขึ้นครับ นั่นคือโอกาสรอดเพื่อมีชีวิตอยู่ทำความดีต่อก็มากขึ้นครับ สำหรับผมเองตอนที่รู้ว่าเป็นเนื้องอกที่ไตก็เกิดจากความบังเอิญครับ ที่จริงก็ทราบมาก่อนแล้วสองสามปีว่ามีเนื้องอกที่ไต แต่ว่าตอนที่ทราบมันยังมีขนาดเล็กอยู่ ยังไม่มีฤทธิ์เดชอะไร แพทย์ก็ไม่ได้แนะนำให้ทำอะไรกับมัน แต่อยู่ๆเหมือนจะไม่ทันตั้งตัว มันก็โตแบบพรวดพราดจนถึงขนาดต้องทำการผ่าตัดแทบจะทันทีครับ ก่อนที่จะตรวจเจอเจ้ามะเร็งนี้ วันนั้นผมจะไปทำบุญทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง แล้วอยู่ๆ ตอนเย็นวันที่ไปถึงนั่นเองผมก็ปวดท้องกระทันหัน ปวดท้องด้านข้างๆ ทางด้านขวาครับ ปวดแบบผิดปกติเพราะมันเริ่มจากปวดนิดๆ เหมือนคนปวดหลังเนื่องจากการปวดเมื่อยร่างกายธรรมดา แต่ที่ไม่เหมือนคือเจ้าอาการปวดนี้มันไม่หาย และต่อเนื่อง บางขณะก็รู้สึกเหมือนจะเป็นลม ยังนับว่าโชคดีที่ผมสังเกตุอาการผิดปกตินี้ได้ว่ามันไม่ธรรมดาแน่ และไหวตัวทันก็เลยเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ไปโรงพยาบาลเถินทันที ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในคืนนั้นด้วยครับ ที่เอาใจใส่ดูแลผมเป็นอย่างดีถึงแม้เครื่องไม้เครื่องมือจะมีไม่พอก็ตาม เจ้าหน้าที่ซึ่งคงจะเป็นแพทย์เวร พอทราบอาการผมและทราบประวัติว่าเคยผ่าสมองมาหลายครั้งก็คงเห็นท่าไม่ดีถ้าจะปล่อยไว้ที่นี่ เลยจัดการทำเรื่องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดลำปางครับ ที่โรงพยาบาลลำปางในกลางดึกคืนนั้นซึ่งน่าจะประมาณตีสอง แพทย์ที่ประจำการอยู่ก็ไม่สามารถจัดการดูแลคนไข้ที่หลั่งไหลเข้ามาได้อย่างทั่วถึงครับ คนที่นอนรออยู่ต่างก็ร้องโอดโอย ก็เลยทำให้ผมไม่มีอารมณ์จะร้องโอดครวญไปด้วย ฮ่าๆ ก็เพราะไม่อยากทำให้สถานการณ์มันวุ่นวายมากเกินไปนะสิครับ เลยนอนปวดแบบเงียบๆ สุดท้ายหมอก็ไม่สามารถแบ่งเวลามาให้ผมซึ่งนอนหมดหวังอยู่บนเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ ญาติก็เลยพาไปที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแพทย์เวรก็ฉีดยาระงับปวดให้ เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็เข้ากรุงเทพมารักษาต่อครับ หลังจากทำการตรวจอุลตราซาวนด์ และ CT แล้วก็เลยทราบว่าซีสต์ที่ไตขวาอาจจะติดเชื้อเลยทำให้ปวด และก็ยังพบว่าเป็นเนื้องอกที่ไตซ้าย และที่ต่อมหมวกไตขวาด้วย การรักษาต่างๆก็ตามมาครับ รวมเวลาที่แพทย์วินิจฉัยจนกระทั่งผ่าตัดไตซ้ายแล้วก็เป็นเวลา เกือบ 6 เดือนครับ ผมต้องขอขอบคุณทีมแพทย์ตั้งแต่โรงพยาบาลเถิน โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลศิริราชด้วยครับ ที่ทำให้ผมมีวันนี้ วันที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติครับ นี่ถ้าไม่เกิดการติดเชื้อที่ถุงน้ำจนนำไปสู่การตรวจพบมะเร็งที่ไตซ้าย ไม่รู้ว่าป่านนี้ผมจะเป็นอย่างไรนะครับ หรือถ้าขณะนี้ยังปกติอยู่ก็ไม่รู้ว่าในอีกสี่ห้าเดือนถัดไปจะเป็นอย่างไร ไม่อยากจะคิดว่ามะเร็งคงลุกลามไปแล้วนะครับ...บรื๋อ...

สำหรับคนที่เป็นถุงน้ำอย่างเดียวแพทย์จะไม่ทำการผ่าตัดให้ทันทีนะครับ ยกเว้นกรณีที่มีเนื้องอกร่วมด้วยจึงจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันครับ คงต้องปรึกษาแพทย์กันดีกว่านะครับ ว่าทำไม คราวนี้มาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องครับ คือบางคนอาจสงสัยว่าแล้วถ้าต้องตัดไตออกหมดทั้งสองข้างจะสามารถรับการบริจาคไตและผ่าตัดใส่ไตใหม่ได้หรือไม่ อันนี้ชัดเจนครับว่าได้ แต่ควรจะเป็นจากผู้บริจาคที่ไม่เป็นโรค VHL นะครับ เพราะว่าเนื้องอกในไตนั้นเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภายในไตเองครับ

สำหรับวันนี้เขียนมายืดยาวก็เพราะหวังว่าจะเป็นความรู้และกำลังใจให้กับคนที่ต้องต่อสู้กับโรคนี้ครับ อย่าลืมว่าบางครั้งเราก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงโรคภัยต่างๆได้ทั้งหมด ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาครับ ที่สำคัญคือเราต้องมีสติ ต้องรู้ทันและเข้าใจชีวิต อย่าไปเสียเวลาเศร้าหรือเสียใจไปกับความเจ็บไข้ของเราเลย คนอื่นๆก็มีทุกข์ มีโรคเหมือนกัน แตกต่างกันที่ชนิดและอาการอะไรพวกนั้นเองครับ ยังมีเรื่องอะไรดีๆรอให้เราไปพบเจอและทำอีกมากมายนะครับ...

ยังมีเวลาให้เราอีกเยอะ...สนุกกับชีวิตนะครับ...

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กินสบายๆ อยู่สบายๆ อย่างไรดีนะ

พบกันอีกครั้งหลังจากหายไปสองสามวันครับ วันนี้จะเอาเรื่องการกินซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของคนที่เป็นโรคนี้มาให้อ่านกันครับ ความสำคัญเรื่องอาหารการกินก็อยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีสุขภาพที่ดีได้จากการกิน หรือจะไม่มีปัญหาเพิ่มเติมเนื่องจากการกินอาหารไงครับ เราต้องกินอาหารทุกวัน การกินอาหารที่พอดีกับร่างกายก็จะทำให้เราสบายใจไปได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ากินอาหารไม่ค่อยจะเหมาะสมก็แทนที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงก็กลับเป็นตรงกันข้ามได้ครับ

สำหรับอาหารที่แพทย์แนะนำให้ทานได้ตามลำดับมากไปน้อยก็ประมาณนี้ครับ ที่ทานได้มากหน่อยคือธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย ถ้าจะใช้น้ำมันก็น้ำมันพืชครับ และก็พวกผัก ผลไม้ พวกนี้ทานได้เยอะหน่อย ที่ทานได้แต่เป็นสัดส่วนที่รองลงมาก็คือ พวกถั่วต่างๆ  ปลา เป็ด ไก่ ไข่ รองลงมาอีกนิดก็นม และที่ควรทานในสัดส่วนที่น้อยที่สุดก็คือ... พวกเนื้อแดง ขนมปังที่ทำจากแป้งขัดขาว พาสต้า อาหารหวานต่างๆ ครับ เหล่านั้นคือสัดส่วนที่แนะนำตามหลักโภชนาการครับ เมื่อทราบแล้วก็พยายามทานให้ได้ตามนั้นก็น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด เพราะคำแนะนำเหล่านั้นได้มาจากการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกครับ จึงเป็นที่น่าเชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นพื้นฐานของทั้งหมดในเรื่องของสุขภาพก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน และการคุมน้ำหนักอย่าให้มากเกิน หรืออ้วนนั่นเอง เรื่องน้ำหนักเกินที่จริงเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีกันอยู่แล้ว ว่ามีผลเสียที่จะตามมาอย่างไรบ้าง ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ก็ควรจะดูแลเรื่องอ้วนกันอยู่แล้วครับ ที่นี้บางคนอาจจะถามว่าเวลาไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงจะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้บ้างหรือไม่ ที่จริงก็ไม่ควรดื่มหรอกครับ เพราะเราก็ทราบกันดีว่ามีผลเสียตามมาอย่างไรบ้าง ในโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปัจจุบันเค้าก็เตือนอยู่ตลอดเวลาว่าสุราเป็นเหตุให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ที่ไม่ดีเต็มไปหมด... ถึงจะทราบแต่ก็อดใจไม่ไหวใช่ไหมครับ ถ้าอยากดื่มจริงๆ ก็ได้นะครับ แต่ว่าไม่ควรมากเกินไป ถ้าอย่างนั้นมาก หรือน้อยแค่ไหนถึงจะไม่เกินไป อันนี้ก็คงอยู่ที่แต่ละคนแล้วนะครับ เพราะแต่ละคนร่างกายสามารถรับได้แตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆ ผมคิดว่าถ้าถึงระดับที่เมาก็มากไปแล้วแหละครับ ดื่มนิดๆแค่ให้พอคุยกันได้สนุกๆ กับพรรคพวกเพื่อนฝูงก็คงไม่เป็นไรมาก อาจจะทำให้เลือดลมไหลเวียนดีก็ได้นะครับ

อีกเรื่องที่อยากฝากให้ช่วยกันคิดก็คืออารมณ์ครับ ผมว่าถ้าเราอารมณ์ดีร่างกายก็น่าจะสร้างแต่สารที่ดีๆ ขึ้นมาซึ่งก็น่าจะส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของเรา เครียดไปก็ไร้ประโยชน์จริงๆ ด้วย ไหนๆ ก็เกิดมาแล้ว ก็มีความสุขกันดีกว่านะครับ สวัสดีครับ...

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลึกเข้าไปใน DNA

วันนี้ขออนุญาตเอาเรื่องหนักๆมาเล่าสู่กันฟังสักนิดนะครับ ข้อมูลข้างล่างนี้ซึ่งเป็นความหมายของโครโมโซม ยีน และดีเอ็นเอ ผมคัดลอกมาจาก wikipedia ครับ ซึ่งคงต้องขออนุญาตทางเว็บอย่างไม่เป็นทางการและขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

แต่ก่อนที่จะไปวิชาการ ผมสรุปให้อ่านนิดก่อนครับว่า จากตำราเค้าบอกว่าคนที่เป็นโรค VHL เกิดจากความผิดปกติของยีน ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือมียีน VHL นั่นเอง ซึ่งเจ้ายีน VHL ตัวนี้จะอยู่ในบริเวณ 3p25-p26 ใกล้กับปลายของแขนที่สั้นข้างหนึ่งของโครโมโซมคู่ที่ 3 ครับ สำหรับรายละเอียดของความหมายทางวิทยาศาสตร์ก็เชิญอ่านตามสบายจากด้านล่างนี้นะครับ ลองพยายามทำความเข้าใจดู อาจจะยากไปนิด ไม่เป็นไรนะครับ อ่านแล้วอาจจะทำให้หลับสบายก็ได้นะครับ

โครโมโซม (chromosome) เป็นที่อยู่ของหน่วยพันธุกรรม ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดข้อมูล เกี่ยวกับ ลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต เช่น ลักษณะของเส้นผม ลักษณะดวงตา เพศ และผิว

หน่วยพันธุกรรม หรือ ยีน (อังกฤษ: Gene) ปรากฏอยู่บนโครโมโซม ประกอบด้วยดีเอ็นเอ ทำหน้าที่กำหนดลักษณะ ทางพันธุกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต หน่วยพันธุกรรม จะถูกถ่ายทอดจากสิ่งมีชีวิต รุ่นก่อนหน้าสู่ลูกหลาน เช่น ควบคุมกระบวนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทั่ว ๆ ไปทางชีวเคมีภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ไปจนถึงลักษณะปรากฏที่พบเห็นหรือสังเกตได้ด้วยตา เช่น รูปร่างหน้าตาของเด็กที่มีบางส่วนเหมือนกับแม่, สีสันของดอกไม้, รสชาติของอาหารนานาชนิด ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะที่บันทึกอยู่ในหน่วยพันธุกรรมทั้งสิ้น

ดีเอ็นเอ (อังกฤษ: DNA) เป็นชื่อย่อของสารพันธุกรรม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (Deoxyribonucleic acid) ซึ่งเป็นกรดนิวคลีอิก (กรดที่พบในใจกลางของเซลล์ทุกชนิด) ที่พบในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ได้แก่ คน, สัตว์, พืช, เชื้อรา, แบคทีเรีย, ไวรัส เป็นต้น ดีเอ็นเอบรรจุข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นไว้ ซึ่งมีลักษณะที่ผสมผสานมาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อน ซึ่งก็คือ พ่อและแม่ และสามารถถ่ายทอดไปยังสิ่งมีชีวิตรุ่นถัดไป ซึ่งก็คือ ลูกหลาน

เป็นไงกันบ้างครับ อ่านแล้วหลับไปกี่ตื่นกันครับ โดยสรุปก็ประมาณนี้ครับว่าคนที่โชคร้ายมียีน VHL ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกและมะเร็งซึ่งอาจจะขึ้นที่ส่วนต่างๆของร่างกายเช่น สมอง ตับอ่อน ไต หรือไขสันหลังเป็นต้น แต่ที่พบบ่อยคือที่ตา สมองส่วนหลัง (cerebellar) ไต แล้วก็ตับอ่อนครับ ที่จริงก็ยังมีอีกหลายที่ครับ เอาไว้หาอ่านจากตำราอีกทีดีกว่าครับ เพราะบางตำแหน่งผมก็ไม่กล้าแปลความหมายจากภาษาอังกฤษต้นฉบับ เพราะกลัวผิด เอาไว้ให้แพทย์ท่านบรรยายดีกว่าครับ

สำหรับวันนี้ผมคงลาไปนอนก่อน นี่ก็เลยหัวค่ำมานานแล้ว ช่วงนี้ผมต้องนอนพักผ่อนเยอะหน่อยเพราะสุขภาพไม่ค่อยดี ถูกตัดไตซ้าย และต่อมหมวกไตข้างขวาไปเมื่อต้นปีนี้เองครับ เป็นเบาหวานอีกต่างหาก แต่ก็ยังสนุกได้อยู่ครับ ชีวิตยังมีอะไรอีกเยอะแยะให้เราทำ ผมคงไม่อยากเสียเวลาไปกับการนั่งเศร้าหรอกครับ เพราะถึงอย่างไร ไม่ว่าจะเศร้าหรือไม่เศร้า สุดท้ายก็ต้องบ๊ายบายโลกอันสวยงาม น่ารักๆ ใบนี้ไปอยู่ดี ขอให้มีความสุขกันทุกคน สวัสดีครับ...

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไปโรงพยาบาลให้หมอตรวจหายีนผิดปกติ

ตรงๆเลยก็ไปโรงพยาบาลศิริราชครับ ไปพบแพทย์และแจ้งความประสงค์จะตรวจหายีนผิดปกติของโรค VHL ครับ แต่ในทางปฏิบัติแพทย์คงสอบถามอาการต่างๆ อย่างละเอียดครับ เพราะการตรวจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผมหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็ทราบว่าราคาต่อการตรวจสอบเลือดหนึ่งตัวอย่างอยู่ที่ 5,000 บาท ซึ่งถ้าพบยีน VHL ก็จะหมายถึงเป็นโรคหรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคครับ การรักษาต่อไปก็จะอยู่ที่แพทย์แล้วครับ ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์ให้ดีว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ส่วนเลือดที่เจาะไปตรวจก็ไม่มากมายครับ เท่าที่อ่านมาก็ปริมาณ 6-10 มิลลิลิตร (ml) ซึ่งจะตรวจที่ห้องปฏิบัติการอณูพันธุศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัยครับ

สำหรับผมซึ่งผ่านการผ่าตัดมาแล้วหลายครั้ง ไม่ต้องไปตรวจแล้วครับ เพราะเป็นแน่ๆ แต่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนเข้าโรงพยาบาล คุณหมอได้เอาเลือดไปตรวจหรือเปล่า คนที่ควรไปตรวจก็สำหรับคนที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆที่บ่งบอกว่าจะเป็นโรคนี้แต่อยากรู้ว่าตัวเองเป็นหรือเปล่าครับ ประโยชน์ของการทราบแต่เนิ่นๆว่าตัวเองเป็นหรือไม่ก็คือถ้าไม่เป็นก็สบายใจได้เลย แต่ถ้าเป็นก็จะทำให้เราสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงทีครับ การไม่รู้หรือปล่อยไว้เป็นเวลานานๆอาจทำให้อาการของโรคเป็นมากจนทำให้การรักษายากขึ้น หรือผลของการรักษาไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก ดีไม่ดีถ้าปล่อยไว้นานเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นได้ครับ

สำหรับวันนี้คงสั้นๆ เท่านี้ก่อน อย่าลืมว่าสุขภาพดีเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคนนะครับ กินอาหารให้พอดี ออกกำลังกายเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญอารมณ์ดีอยู่เสมอ อย่าลืมสนุกกับชีวิตนะครับ สวัสดีครับ...

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จากพ่อแม่สู่ลูก

สวัสดีครับทุกท่าน... คำถามที่คนที่เป็นพ่อแม่หรือที่ยังไม่เป็นพ่อแม่เป็นกังวลมากเป็นอันดับต้นๆก็คือ แล้วลูกเราจะเป็นไหม? ความกังวลนี้ทำให้พ่อแม่บางคู่ถึงกับไม่ยอมมีลูก หรือบางคนก็ถึงกับไม่ยอมแต่งงานเลยนะครับ เพราะกลัวว่าความโชคร้ายนี้จะถูกส่งผ่านไปยังบุตรหลานของตนต่อไป ซึ่งที่จริงก็น่าสงสารน่าดูเมื่อเรามองไปยังพวกเค้า ที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ แต่ต้องมีมรดกตกทอดที่ไม่ค่อยน่าพิศมัยเท่าไหร่จากพ่อแม่เตรียมไว้ให้แบบไม่เอาก็ไม่ได้ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ลูกทุกคนที่จะโชคดี :-( ได้รับมรดกทางพันธุกรรมอันนี้นะครับ

โรค VHL เกิดจากความผิดปกติของยีน (gene) หนึ่งในจำนวนหลายล้านยีนในร่างกาย ซึ่งเป็นยีนเด่น ยีนนี้ก็จะถ่ายทอดลงไปสู่ทายาท แต่จะถ่ายทอดไปสู่ทายาทโดยตรงทุกคนหรือไม่ เรามาดูจากภาพกันเลยครับ จากภาพเราจะเห็นว่าถ้ามีเพียงบิดาหรือมารดาคนเดียวเป็นโรคนี้หรือมียีนของโรคนี้ (ซึ่งในกรณีตัวอย่างนี้สมมติให้คุณพ่อเป็น) โอกาสที่ลูกจะได้รับยีนโรคนี้มี 50 เปอร์เซ็นต์โดยไม่เกียวกับเพศครับ นั่นก็หมายความว่าถ้ามีลูกสองคน หนึ่งในสองคนนั้นอาจจะเป็น ลูกคนหนึ่งเป็นคนหนึ่งรอดครับ หรือถ้ามีลูกสี่คน ก็อาจจะเป็นสองคนแต่อีกสองคนอาจจะไม่เป็น อันนี้ว่ากันตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นะครับในทางปฏิบัติหรือในความเป็นจริงแล้วอาจจะแตกต่างไปได้ แต่ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นไปตามหลักการแหละครับ ยกตัวอย่างครอบครัวผม ซึ่งสันนิษฐานว่าแม่เป็นผู้มียีนนี้ แต่พ่อไม่มี (ปัจจุบันพ่ออายุแปดสิบสามปี ยังสบายดีอยู่ไม่เคยมีประวัติเนื้องอกใดๆ) มีลูกทั้งหมด 8 คน จากจำนวนี้มีคนที่ได้รับยีน VHL 4 คนพอดีครับ ก็คิดเป็นห้าสิบเปอร์เซ็นต์ครับ ซึ่งในจำนวนสี่คนนั้นก็รวมทั้งตัวผมด้วย ผมแต่งงานมีลูกสองคน หนึ่งในสองคนก็ได้รับยีนตัวนี้ไปครับ คิดเป็นห้าสิบเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

สำหรับคำถามว่าแล้วคนไหนเป็น คนไหนไม่เป็นล่ะ อันนี้ถ้าอาการยังไม่แสดงออกมา ก็สามารถไปตรวจหายีนตัวนี้ได้ ซึ่งผมจะเขียนถึงในตอนต่อๆไปครับ เพราะมีรายละเอียดเยอะพอสมควร ลูกสาวผมที่ทราบว่าเป็นก็เพราะจากการตรวจหายีนตัวนี้จากโรงพยาบาลศิริราชครับ ผมไม่ทราบว่าที่อื่นในประเทศไทยปัจจุบันนี้มีที่ไหนที่สามารถตรวจได้อีก ผู้ที่สนใจคงต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมกันเอาเองอีกทีครับ

สำหรับข้อเขียนตอนนี้ผมคงหยุดเอาไว้เท่านี้ก่อน วันนี้ผมตื่นแต่เช้ามาพบกับอากาศที่สดชื่นมากๆ เย็นสบายเพราะฝนตกเมื่อคืน เสียงน้ำตกในสวนของบ้านข้างๆ ดังมาเป็นระยะๆ ช่างน่าสบายและรื่นรมย์มากครับ วันนี้เป็นวันเลือกตั้ง อย่าลืมไปใช้สิทธิ์กันทุกคนนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ...

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แนะนำตัวเอง ผมผ่าสมองมา 4 ครั้งเพราะเป็นโรค VHL

ผมตั้งใจว่าจะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แก่ครอบครัวคนไทยที่เป็นโรคนี้ โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์จากตัวผมเองและพี่น้อง ครอบครัวของผม ที่ต่อสู้กับการผ่าตัดกันเป็นว่าเล่นมานานตั้งแต่บางคนยังเป็นเด็กๆ อยู่เลย แม่ผมเสียชีวิตไปนานแล้วตั้งแต่ผมอายุประมาณสามขวบ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าแม่เป็นอะไรถึงเสียชีวิต อาการที่ทราบก่อนแม่เสียชีวิตอย่างกระทันหันก็คือแม่ปวดหัวมาก และนาน แม่ปวดหัวมากขนาดที่ทนไม่ได้หลังจากผ่านไปนานสองสามชั่วโมง ไม่มีใครรู้ว่าแม่เป็นอะไร อาการปวดหัวดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยปี พ.ศ. 2517 ในชนบทอย่างนั้น

นอกจากประสบการณ์ตรงแล้ว ผมยังตั้งใจจะแปลบทความจากเอกสารเผยแพร่จากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจากอเมริกา มาเล่าสู่กันฟังเพื่อว่าผู้ป่วยหรือคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลจะได้รับทราบถึงแนวทางการรักษา การดูแลตนเอง และอื่นๆครับ ทั้งนี้ก็รวมถึงคนในครอบครัวผมเองด้วยที่จะได้อ่านและพอจะเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์อันมืดๆ ทึมๆ ของชีวิตอันน้อยนิดนี้

ยังมีอะไรอีกมากมายในชีวิตนี้รอให้เราสนุกกับมัน มีความสวยงามของธรรมชาติ และผู้คนมากมายให้เราได้ค้นหา ลำธารที่ไหลผ่านก้อนกรวดกลมๆ ท่ามกลางต้นไม้และขุนเขารายรอบยังรอเราอยู่ที่ไหนสักแห่ง ... อย่างที่เขียนหัวเรื่องไว้ ผมผ่านการผ่าสมองมาแล้ว 4 ครั้ง ที่จริงยังมีอื่นๆ อีกมากที่ผมต้องเจอ เอาไว้เล่าให้ฟังในตอนต่อไปนะครับ อ่านแล้วคิดเห็นอย่างไร อย่าลืมแสดงความเห็นให้ทราบกันบ้างนะครับ แล้วพบกันครับ