วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

สเต็มเซลล์กับการรักษาโรคหัวใจ

สวัสดีครับ สำหรับวันนี้ขอลอกเนื้อหามาจากเว็บของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มาให้อ่านกันครับ เชิญเลยนะครับ

Stem cell สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
  1. เซลล์ต้นกำเนิดในตัวอ่อน (Embryonic stem cell)
  2. เซลล์ต้นกำเนิดในตัวเต็มวัย (Adult stem cell)
เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน ได้แก่ เซลล์ที่มาจากการผสมระหว่างอสุจิของเพศชายและไข่ของเพศหญิงจนเกิดเป็นตัวอ่อน (embryo) เซลล์ชนิดนี้ไม่นิยมใช้แพร่หลายเนื่องจากปัญหาทางจริยธรรม เซลล์ต้นกำเนิดอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ เซลล์ต้นกำเนิดในตัวเต็มวัย ซึ่งอาจได้มาจากไขกระดูก กล้ามเนื้อ หรือจากเลือด เซลล์เหล่านี้ยังมีความสามารถที่จะเจริญต่อไปเป็นเซลล์อื่นได้ตามอวัยวะที่เซลล์นี้ไปอยู่และเป็นเซลล์ที่เป็นที่ยอมรับว่าไม่ผิดจริยธรรมและมีการศึกษานำไปใช้อย่างแพร่หลาย
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้เลือกใช้เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ชนิดที่ได้มาจากเลือดของผู้ป่วยเองในการรักษาโรคภาวะหัวใจวายและโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในคนไข้มาแล้ว 26 ราย เซลล์นี้มีความปลอดภัยสูงและไม่ผิดหลักจริยธรรม เนื่องจากเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเองและได้ผ่านการคัดแยกเซลล์ต้นกำเนิดออกจากเลือด แล้วนำไปเพิ่มจำนวนขึ้นจนมากพอสำหรับใช้ในการรักษา
ขั้นตอนได้แก่
เก็บเลือดจากผู้ป่วยจำนวน 250 ซีซี. ประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนการผ่าตัด หลังจากกรรมวิธีพิเศษจะทำให้ได้เซลล์ประมาณ 2-50 ล้านเซลล์ในปริมาณ 15 ซีซี. เพื่อใช้ในการฉีดโดยการผ่าตัดใช้กล้องผ่านรูเล็กทางหน้าอกด้านซ้าย ก่อนการฉีดเซลล์ในรายที่กล้ามเนื้อตายและหัวใจวายจากการขาดเลือด ต้องทำการตรวจแบบสัมผัสภายนอก (noninvasive) ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac Magnetic Resonance Imaging หรือ CMR) ก่อนเพื่อหาบริเวณกล้ามเนื้อที่ยังไม่ตาย (viable) และกล้ามเนื้อที่ตายแล้ว (nonviable myocardium)
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โดยทั่วไปแล้วผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูงและได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจมาก

สำหรับแนวทางในการรักษาโรค VHL คราวหน้าจะหามาเล่ากันนะครับ ก่อนจากกันต้องขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพอีกครั้งครับ ผมเห็นว่าเผยแพร่สาธารณะแล้ว ก็เลยลอกเอามาให้อ่านกันได้ครับ

สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น