วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ในเมืองไทยมีคนเป็น VHL กันสักกี่คนกันแน่?

สวัสดีครับ พบกันอีกเช่นเคยตามแต่โอกาสจะอำนวยครับ ผมพยายามคิดว่าจะหาข้อมูลอะไรมาเขียนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่านอยู่ตลอดเวลานะครับ หลายๆครั้งก็คิดไปถึงเรื่องการดูแลสุขภาพ บางครั้งก็นึกถึงเรื่องตลกๆ ว่าอาจจะมีคนสนใจเพื่อคลายเครียด หรือบางทีก็นึกว่าจะเขียนถึงเรื่องทางธรรมชาติๆ ที่ผมเองก็สนใจเป็นการส่วนตัวด้วย เอามาเล่าให้ฟังบ้างก็น่าจะดีนะครับ เพราะบางครั้งหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเราก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ยกตัวอย่างนะครับ เรื่องของปลาที่มีลักษณะคล้ายพยานาคที่เราอาจจะเห็นทางสื่อต่างๆอยู่บ่อยๆ เรื่องของฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบในชั้นหินอายุหลายสิบหรือหลายร้อยล้านปีขึ้นไป หรืออะไรอื่นๆที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา ที่ผมพอจะมีความรู้บ้างเหล่านี้แหละครับ เอาเป็นว่านอกจากโรค VHL โดยตรงแล้ว บางครั้งผมอาจจะเอาเรื่องอื่นๆ มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

สำหรับวันนี้ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของสถิติของจำนวนคนที่เป็นโรคนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ หลายคนคงสงสัยว่าในประเทศไทยมีคนที่เป็นโรคนี้กี่คนกันแน่ แล้วเรามีโอกาสเป็นหรือไม่? น่าสนใจนะครับ หลายคนมีอาการปวดหัว ลิ้นแข็ง พูดจาไม่ชัดเจนในบางช่วง ก็เลยกังวลว่าเอ๊ะนี่เราเป็นอะไรกัน เป็นโรค VHL หรือเปล่า? การที่จะตรวจให้ทราบก็คงมีอยู่ไม่กี่ทางนะครับ คือคงต้องตรวจ DNA หรือไม่ก็ต้องทำ CT scan หรือ MRI ครับ ถึงจะรู้ได้

ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมครับ คิดเป็น 80เปอร์เซนต์ของคนที่เป็นโรคนี้ทั้งหมด อีก 20เปอร์เซนต์เกิดจากการ "ผ่าเหล่า" หรือ Mutation ครับ เห็นแล้วน่าตกใจเหมือนกันนะครับ ที่คนปกติที่พ่อแม่ไม่ได้เป็นก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ด้วยเหมือนกัน จากสถิติอันนี้จะเห็นได้ว่า ในจำนวนคนที่เป็นโรคนี้หนึ่งร้อยคน มีคนที่เป็นเพราะมีพ่อหรือแม่เป็นมาก่อนอยู่แปดสิบคน ส่วนอีกยี่สิบคนเป็นเพราะว่าเกิดจากการผ่าเหล่าของยีน VHL เองครับ! ซึ่งการผ่าเหล่านี้ ด็อกเตอร์ Eamonn Maher แห่ง Bermingham, England ได้ศึกษาและแสดงออกมาเป็นตัวเลขว่า 1 ใน 4,400,000 ของเด็กที่เกิดมา มีโอกาสผ่าเหล่าและเป็นโรคนี้ครับ ถ้าคิดเป็นเปอร์เซนต์ก็ 0.00002 เปอร์เซนต์ครับ จะเห็นว่าน้อยมาก แต่ถ้าคิดจากจำนวนคนที่เกิดทั้งประเทศหรือทั่วโลกแล้วก็ไม่น้อยเลยนะครับ ใครอยากทราบว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ลองหาสถิติการเกิดมาคูณดูครับ

จะเห็นว่าคนที่พ่อหรือแม่ไม่ได้เป็นโรคนี้ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้นะครับ

จากสถิติเค้ายังบอกอีกว่าในโลกนี้ มีคนเป็น 1 ใน 32,000 คนครับ โดยไม่แยกเผ่าพันธุ์หรือเพศนะครับ คิดเป็นเปอร์เซนต์ก็ 0.003125เปอร์เซนต์ครับ ที่จริงก็น้อยมาก ทีนี้ถ้าคิดถึงคนไทยว่าเป็นกันสักกี่คน ผมก็ประมาณเอาคร่าวๆว่าตอนนี้ถ้าประชากรไทยทั้งหมดคือ 65 ล้านคน ก็จะมีคนที่เป็นโรคนี้ประมาณ 2,031 คนครับ จะเห็นว่าไม่น้อยเลยทีเดียว อันนี้เป็นประมาณการจากสถิติเท่านั้นนะครับ ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นจริงๆ จะมีจำนวนเท่านี้เป๊ะๆ เลย แต่คิดว่าน่าจะใกล้เคียงครับ ในความเป็นจริงแล้วเราไม่ค่อยจะได้ยินว่ามีคนเป็นโรคนี้เท่าไหร่ในบ้านเรา และผมก็ยังไม่เคยได้ยินชื่อของโรคนี้จากทางสื่อทั่วไปเลยนะครับ นั่นก็คงเป็นเพราะว่ามีคนที่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้น้อยมากๆ หรืออันที่จริงก็ต้องบอกว่ามีคนที่รู้จักโรคนี้แม้กระทั่งแพทย์เองในปัจจุบันนี้น้อยมากๆนั่นเองครับ แต่ผมมั่นใจว่ายิ่งนานวันโรคนี้ก็จะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากยิ่งขึ้นครับ อย่างน้อยยกตัวอย่างของผมญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมงานก็เริ่มจะได้ยินชื่อของโรคนี้ผ่านทางตัวผมและญาติที่เป็นกันมากขึ้นๆ ครับ

ทีนี้มาพูดถึงว่าแล้วเราจะเป็นกันตอนไหน ตอนอายุเท่าไหร่ล่ะ จากการศึกษาพบว่าสำหรับเด็กๆ แล้วจะมีอาการที่ตาหรือต่อมหมวกไตก่อนอายุ 10 ขวบประมาณ 10 เปอร์เซนต์ครับ

ยังมีข่าวดีครับ คือว่ามีคนอีกไม่น้อยที่พบว่ามียีน VHL แต่ไม่มีอาการป่วยใดๆเลยจนกระทั่งอายุ 80 ปี! อันนี้เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่ามันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ ใช่ไหมครับ คือเราจะเห็นว่าบางคนจะไม่มีอาการเป็นซีสต์หรือเนื้องอกที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เช่นปวดหัว หรืออื่นๆ เลยจนมีอายุมากแล้ว ซึ่งบางคนอาจจะเสียชีวิตไปโดยไม่มีอาการของโรคเกิดขึ้นเลยนะครับ ถ้าเราคิดต่ออีกสักนิดเราก็อาจจะเชื่อได้ว่าถ้าอย่างนั้นมันคงมีปัจจัยที่ทำให้มีการกระตุ้นและเกิดเนื้องอกขึ้นมาได้นะสิ ผมก็เชื่ออย่างนั้นเหมือนกันครับ แต่การค้นหาก็คงไม่ง่ายหรอกนะครับ เพราะคนทุกคนมีความแตกต่างกันทั้งสภาพร่างกายทุกๆ อย่าง และการดำรงชีวิต หรืออื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแตกต่างกันนะครับ ดังนั้นการจะหาว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะปลอดภัยคงไม่ง่ายแน่นอน หวังว่าในอนาคตอันใกล้จะมีผู้ค้นพบนะครับ

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อกันว่าน่าจะมีการค้นพบวิธีการรักษาผ่านการศึกษาเรื่องยีนภายในปี 2025 ครับ นับจากวันนี้ก็อีกประมาณ 14 ปีครับ ผมอยากให้เป็นเช่นนั้นครับ เพราะยังมีคนอีกมากที่ต้องทรมานกับโรคนี้อยู่ทุกวันๆ แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ก็ยังมีแนวทางในการรับมือครับ เช่นที่ได้กล่าวไปในบทความที่ผ่านๆมาแล้วหลายๆตอน เช่นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การใช้หลักโภชนาการที่ดี การไปตรวจร่างกายและติดตามผลอย่างใกล้ชิดเป็นต้น นอกจากนี้การระมัดระวังไม่ให้เครียดมากเกินไปก็มีส่วนดีไม่ใช่น้อย เรื่องความเครียดนี้ที่จริงแล้วก็ส่งผลถึงโรคเกือบทุกโรคได้เหมือนกันนะครับ ที่ชัดๆก็อย่างเช่นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวานเป็นต้นครับ

หลายๆโรคก็รักษาไม่หายขาดเช่นกันนะครับ เช่นมะเร็ง เบาหวานนั่นไงครับ แต่เราจะเห็นว่าในปัจจุบันถึงแม้จะรักษาไม่หายขาดแต่ก็มีวีธีรับมือและสามารถมีชีวิตที่ปกติได้ถ้าเราตั้งใจครับ

มันอยู่ที่ใจด้วยครับ ... สวัสดีครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น