วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องทั่วไปของเนื้องอกและซีสต์ของโรค VHL

สวัสดีวันอาทิตย์ครับ

วันนี้เอาเรื่องที่เป็นความรู้ทั่วๆไปเกี่ยวกับเนื้องอกและซีสต์ที่เกิดจากโรค VHL นี้มาเล่าให้ฟังกันครับ เราทราบกันดีแล้วว่าโรค VHL นี้ทำให้เกิดเนื้องอกขึ้นในส่วนต่างๆของร่างกายได้หลายที่ เราเรียกเนื้องอกที่เกิดขึ้นที่สมองและไขสันหลัง (สำหรับโรคนี้) ว่า Hemangoblastoma หรือ ฮี แมน จิ โอ บลาส โอ มา นะครับ ซึ่งประกอบไปด้วยหลอดเลือดที่เจริญเติบโตมากผิดปกติ ประกอบกันขึ้นเป็นก้อนเนื้องอกนั่นเอง และเจ้าก้อนเนื้องอกนี้ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดความดัน หรือแรงดันขึ้นมาครับ ซึ่งก็จะไปกดดันระบบประสาทหรือเนื้อสมองได้ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาครับ อย่างเช่น ปวดหัว ปัญหาการทรงตัวขณะเดิน หรือความอ่อนแรงของแขน ขา เป็นต้น นอกจากนั้นการโตของก้อนเนื้องอกเองก็ยังไปก่อให้เกิดการขัดขวางการไหลของน้ำไขสันหลังในสมอง ทำให้ปวดหัวได้เช่นกันนะครับ ดังเช่นในกรณีของผมเอง และลูกสาว ต้องได้รับการผ่าตัดรักษาให้ทันท่วงทีครับ

ในกรณีที่เนื้องอกนี้โตขึ้น อาจทำให้ผนังของหลอดเลือดอ่อนแอลง และทำให้เกิดการรั่วไหลของเลือดออกมาจากผนังหลอดเลือดนั้นซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆนั้นได้ เช่นการรั่วไหลของเลือดหรือของเหลวในจอตา (retina) อาจจะมีผลไปบดบังการมองเห็นได้ เป็นต้น ดังนั้นการได้รับการตรวจลูกตาอย่างใกล้ชิดและละเอียดจึงมีความสำคัญมากๆครับ เท่าที่ทราบสถานพยาบาลหลายๆ แห่งสามารถตรวจเรื่องเนื้องอกในจอตาให้เราได้ แต่การที่จะบ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์กับโรค VHL หรือไม่คงไม่สามารถทำได้ทุกที่ คงต้องเป็นสถาบันที่บุคลากรมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ด้วยครับ ในกรณีของผมไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชครับ ซึ่งการไปพบแพทย์ในแต่ละครั้งนั้นต้องใช้ความอดทนอย่างสูงเนื่องจากจำนวนคนไข้ที่เยอะมากนั่นเองครับ ปกติแล้วผมไปถึงโรงพยาบาลประมาณก่อนเจ็ดโมงเช้า จะได้รับการตรวจโดยแพทย์ประมาณเที่ยงหรือใกล้ๆ บ่ายโมงครับ คนไข้เยอะจริงๆ แต่ที่จริงแล้วการที่ต้องเข้าคิวคอยสำหรับผู้ป่วยนานๆ อย่างนั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับแพทย์ครับ คุณหมอต้องตรวจคนไข้อย่างไม่ได้หยุดพักเลยตลอดเวลาจนกว่าคนไข้จะหมดในวันนั้น ซึ่งเท่าที่ผมได้มีประสบการณ์มา ส่วนใหญ่แล้วเห็นคุณหมอตรวจไปจนบ่ายสองบ่ายสาม อย่างต่อเนื่องเลยนะครับ ไม่ได้ทานข้าวกลางวันหรือนั่งพักทำโน่นทำนี่อย่างคนไข้เลยครับ ดังนั้นผมจึงยินดีคอยต่อไปครับ

ต่อกันนะครับ ซีสต์ (Cysts) อาจจะเกิดขึ้นได้รอบๆก้อนเนื้องอก ซึ่งซีสต์นี้ก็คือถุงน้ำที่ประกอบไปด้วยของเหลวอยู่ภายใน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดแรงดันหรือไปขัดขวางการไหลเวียนของระบบของเหลวต่างๆ ของร่างกายและทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาได้ครับ

ผู้ป่วยชายบางคนอาจพบมีเนื้องอกในถุงอัณฑะ (scrotal sacs) ได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ก็ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะนะครับ เช่นเดียวกับเพศหญิงที่อาจจะมีซีสต์หรือเนื้องอกเกิดขึ้นได้ที่อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ซึ่งก็สมควรจะไปตรวจเช่นกันครับ

ปกติแล้วซีสต์หรือเนื้องอกนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ที่ไต ตับอ่อน หรือต่อมหมวกไตได้ ดังที่เคยเขียนถึงในตอนก่อนๆไปแล้วนะครับ ซึ่งปกติแล้วซีสต์กับเนื้องอกเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆขึ้นให้เราสังเกตได้ง่ายๆ แต่เราก็ต้องพยายามหาวิธีตรวจสอบให้ได้ครับ เพื่อความปลอดภัยของเราเอง อย่างเช่นอาการอย่างหนึ่งของต่อมหมวกไตก็คือความดันโลหิตสูงครับ เจ้าเนื้องอกพวกนี้โดยทั่วไปจะเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ก็มีที่เป็นเนื้อร้ายได้เช่นกัน โดยเฉพาะที่ไต ดังนั้นการได้รับการตรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ปกติแล้วควรได้รับการตรวจด้วย CT scan หรือ MRI เป็นประจำทุกปีโดยอาจจะมีการตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วยครับ

สุดท้ายนี้อย่าลืมนะครับว่าซีสต์หรือเนื้องอกจากโรคนี้ในหลายๆแห่งของร่างกายจะไม่มีอาการของโรคปรากฎให้เห็นหรือให้สังเกตุกันได้ง่ายๆ ดังนั้นท่านต้องระวังตัวเองและอาจจะต้องขอตรวจโดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นคนสั่งตามที่ท่านเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอนะครับ เพราะในบางกรณีกว่าจะทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองท่านอาจต้องสูญเสียอวัยวะนั้นๆไป หรือดีไม่ดีอาจเสียชีวิตได้ง่ายๆ เลยครับ

คราวหน้าจะเอาเรื่องของโรค VHL กับมะเร็งมาเล่าให้ฟังครับ ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง คอยติดตามกันนะครับ ขอให้โชคดีทุกท่านครับ สวัสดีครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น