วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปลาม้าลายป่วยเป็นโรค VHL อะไรนะ??

สวัสดีครับ ปกติเราจะเห็นข่าวนักวิทยาศาสตร์ค้นพบผลงานใหม่ๆ ผ่านการทดลองกับหนู (หรือหนูทดลองนั่นเอง) อยู่ตลอดเวลานะครับ แต่เดี๋ยวนี้มีการทดลองกับสัตว์พวกอื่นและที่ผมเพิ่งทราบก็คือกับปลาม้าลายครับ (zebrafish) น่าแปลกใจและน่าสงสารครับ ปลาม้าลายเป็นปลาตู้เลี้ยงไว้ดูเพื่อความเพลิดเพลินครับ เพราะมันมีลวดลายสวยงามแปลกตาดี แต่ก็นั่นแหละครับ พวกหนูก็น่าสงสารเหมือนกัน ไม่เป็นไรครับ เอาเป็นว่าเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ สัตว์เหล่านี้ก็เลยถูกใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ครับ

เอาละครับ เข้าเรื่องกันดีกว่า มีข่าวจาก VHLFA (VHL Family Alliance) ครับ ว่าคุณ Rachel Giles ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้าน Nephrology ไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไร แต่เข้าใจว่าเป็นทางด้านไตครับ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิ VHLFA ให้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้ครับ เธอได้ส่งผลการวิจัยมาให้อ่านกันดังนี้ครับ คือแรกเริ่มเธอได้ทำการศึกษาโรค VHL ในหนูทดลองซึ่งปกติหนูจะมีระบบร่างกายที่เหมาะกับการทำการวิจัยเรื่องโรคต่างๆที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มาก แต่การทำให้หนูเป็นโรค VHL นั้นยากมากครับ

ก็เลยเปลี่ยนมาทำกับปลาม้าลายแทน!!!

เค้าบอกว่าปลาม้าลายทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายมาก และจะเห็นผลเพียง 7 วันหลังจากมันปฏิสนธิเท่านั้นเอง... น่าสงสารนะครับ ปลาเป็นโรค VHL ซะแล้ว... เธอยังบอกอีกว่าเจ้าปลาม้าลายนี้มีอาการของโรคนี้เหมือนมนุษย์อย่างมากด้วย เช่นการเกิดเนื้องอกในสมอง ไขสันหลัง ตา ต่อมหมวกไต และที่ไตเองด้วย จากการศึกษายังพบอีกว่าเมื่อให้เซลล์ VHL ที่ปกติของคนลงไปในปลา มันก็จะกลับมามีสุขภาพที่ดีได้อีก อันนี้ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าอย่างไร ก็งงงงอยู่เหมือนกันครับว่าทำอย่างไรกันแน่... เธอบอกว่านี่แสดงให้เห็นว่าเซลล์ของปลาม้าลายนี้กับของคนสามารถทดแทนกันได้อย่างดีอีกด้วย อันนี้ก็ไม่แน่ใจครับ ว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่า เอาไว้คราวหน้าจะมาอัพเดทอีกทีครับ

ตอนนี้เธอกำลังศึกษาปลาม้าลายที่เป็นโรค VHL อยู่จำนวนเป็นพันๆตัวจาก 13 ครอบครัวปลา ต่อไปจะเป็นการศึกษาว่าการเกิดโรคและการรักษาจะสามารถทำได้เหมือนที่ทำกับมนุษย์หรือไม่ วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะเอามาปรับใช้กับมนุษย์นี่แหละครับ

ครับ... อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง เอาเป็นว่ายังไงเราก็ต้องสู้กับโรคนี้ต่อไปนะครับ พออ่านเสร็จผมก็บริจาคเงินเพื่อการวิจัยของกลุ่ม VHLFA นี้ไปตามกำลังครับ เพื่อสนับสนุนการวิจัยต่อ ในอนาคตลูกหลานจะได้มีโอกาสที่ดีขึ้นครับ

สวัสดีครับ











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น