วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคซึมเศร้าที่เกิดจากโรค VHL

                               โบสถ์ที่วัดพระธาตุม่อนพระเจ้าหลาย แม่ขะจาน อ. เวียงป่าเป้า เชียงราย

สวัสดีครับ

วันเสาร์ตอนบ่ายๆ ครับ วันนี้อยู่บ้านหลังจากที่เดินทางไปต่างประเทศมาหลายวันครับ วันนี้ผมไปค้นข้อมูลวิชาการมาเล่าให้ฟังกันนิดหน่อยครับ เข้าเรื่องเลยนะครับ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคหรืออาการซึมเศร้าที่เกิดจากการที่เราเป็นโรค VHL นี้ครับ ทำไมต้องซึมเศร้าล่ะครับ มันเกี่ยวกันอย่างไรกับโรคนี้?

เกี่ยวกันครับ เกี่ยวมากด้วยสิครับ สาเหตุคือการที่เรามีความเจ็บป่วยทางร่างกายนานๆ เนื่องจากเป็นโรคนี้ไงครับ เมื่อเรารู้ว่าเราจะไม่มีทางหายจากโรคนี้เนื่องจากว่าในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการค้นพบวิธีการรักษา มันก็จะทำให้เรารู้สึกหดหู่ หมดหวัง กดดัน และอื่นๆ อีกมากมากที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อความเจ็บปวด กลัวต้องนอนโรงพยาบาล กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กังวลเรื่องที่จะทำให้เป็นภาระกับญาติพี่น้องต่อไป และอีกหลายอย่างครับ ที่จะเกิดขึ้นได้ เรื่องเหล่านี้แหละครับ ที่จะเกิดขึ้นและอยู่กับเราผู้ป่วยไปอย่างยาวนาน หรือตลอดชีวิต ซึ่งก็จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ครับ

แต่ว่าจากข้างต้นเราจะเห็นว่า อาการดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยทางกายเนื่องจากโรคอื่นๆ ก็ได้นะครับ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้นครับ ไม่ใช่เฉพาะโรค VHL อย่างเดียว คือโรคอะไรก็ตามที่ทำให้มีความเจ็บป่วยทางกายที่ต้องใช้เวลาในการรักษานานๆ นั่นแหละครับ เป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น

ต่อไปนี้คืออาการที่บ่งชี้ของคนที่อาจจะเป็นโรคซึมเศร้านะครับ คือ
  1. มีอาการซึมเศร้า หรือความรู้สึกโศรกเศร้าแทบจะทั้งวัน และแทบทุกวัน
  2. ขาดความสนใจ หรือพอใจกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
  3. น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงอย่างฮวบฮาบ ถ้าไม่ได้ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด หรือความรู้สึกอยากอาหารหรือเบื่ออาหารเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  4. นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับยากแทบทุกวัน
  5. อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  6. รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า หรือรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
  7. ขาดสมาธิ
  8. คิดฆ่าตัวตายซ้ำซาก
ที่จริงอาการข้างต้นเหล่านั้นบางอย่างอาจเกิดจากสาเหตุของการเจ็บป่วยทางกายได้นะครับ อย่างเช่นมะเร็ง ที่อาจทำให้น้ำหนักลด นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย เป็นต้น ซึ่งเมื่อรักษาโรคเหล่านั้นจนหายไปแล้ว อาการที่ว่านั้นก็จะหายไปด้วยเช่นกัน

ทีนี้เมื่อไรที่เราจะต้องไปพบแพทย์เพื่อให้รักษาล่ะครับ จริงๆ แล้วอาการซึมเศร้านี้อาจหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าหากจะพิจารณาดูว่าเมื่อไรที่เราควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาล่ะก็ ลองดูจากอาการที่เขียนไว้ดังต่อไปนี้นะครับ ว่าเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า
  1. อาการโศรกเศร้านั้นมากจนเรารู้สึกว่าต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับมันแล้ว
  2. รู้สึกว่าเราต้องการความช่วยเหลือแล้ว
  3. อาการโศรกเศร้านั้นเริ่มมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีผลต่อการทำงาน มีผลต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น
  4. คิดฆ่าตัวตาย
เป็นอย่างไรบ้างครับ มีบ้างไหมครับ ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นเกิดขึ้นกับเราแล้ว ก็คงหมายความว่าถึงเวลาต้องหาตัวช่วยแล้วสิครับ

คราวนี้ลองมาดูวิธีการรักษาบ้างนะครับ ว่ามีอะไรบ้าง
  • ข้อแรก คือการใช้ยาครับ
  • ข้อสองคือการรักษาทางจิตบำบัด
  • ข้อสามคือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน คือทั้งยาและจิตบำบัดครับ
ซึ่งวิธีการรักษาในแต่ละคนก็คงจะไม่เหมือนกันครับ ผู้ป่วยคงต้องลองดูหลายๆ อย่าง แต่ผมว่าทางที่ดีถ้าเราไปพบจิตแพทย์ก่อนก็น่าจะดีนะครับ เพราะการซื้อยากินเองก่อนเลยก็อาจจะมีอันตรายได้ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีอันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าควรทำอย่างไร เพราะยังไม่เคยไปพบจิตแพทย์หรือเข้ารับการรักษาโดยจิตบำบัดเหมือนกัน เคยคิดเหมือนกันครับว่าจะไปหาจิตแพทย์ โดยเฉพาะตอนที่รู้สึกแย่มากๆ มองไปทางไหนก็มีแต่ความมืดมนอะไรอย่างนั้น คือแค่อยากลองดูครับ ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ทำครับ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะเจ็บป่วยทางกายอย่างนี้ ยังไงก็ขอให้เข้มแข็งและอย่าเสียเวลาไปคิดถึงมันมากนะครับ เสียทั้งสุขภาพกายและจิต เอาเวลาที่มีอยู่ไปทำอะไรที่มีประโยชน์กับผู้คนรอบข้างดีกว่านะครับ

สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น