สวัสดีเช้าวันเสาร์ครับ อากาศเย็นสบายอีกแล้ว วันนี้จะมาเล่าเรื่องปลาม้าลายพระเอกของเราต่อจากคราวที่แล้วอีกหน่อยนะครับ คราวที่แล้วเขียนเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ที่เอาปลาม้าลายมาทำการวิจัยเรื่องโรค VHL นี้เอง วันนี้ผมไปค้นข้อมูลมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาม้าลายอีกนิดนะครับ
ปลาม้าลายถูกใช้ในวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มานานแล้วครับ เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ที่สหรัฐอเมริกา โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอนครับ และในปัจจุบันการใช้ปลาม้าลายในงานวิจัยก็เป็นที่นิยมกันมากขึ้นทั่วโลกครับ นักวิทยาศาสตร์ใช้ปลาม้าลายในการศึกษาชีววิทยาของเซลล์ต้นกำเนิด ระบบประสาท และการแสดงออกของยีนต่างๆ ครับ ล่าสุดมีการจัดประชุมนานาชาติเรื่องของเจ้าปลาม้าลายนี้ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้เองครับ
เค้าบอกว่าปลาม้าลายนี้มีความสามารถในการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย (เช่นเดียวกับพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ) เนื่องจากมีเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์จำนวนมากนั่นเอง มากกว่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายเท่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็อย่างเช่น มนุษย์ สุนัข แมว และอื่นๆอีกมากมายที่ใช้น้ำนมเลี้ยงลูกอ่อนนั่นแหละครับ การทดลองต่างๆกับปลาม้าลายยกตัวอย่างเช่นการตัดเส้นประสาทที่ตา การทำให้บาดเจ็บที่ไขสันหลัง หรือการตัดกล้ามเนื้อหัวใจออกบางส่วน ... หวังว่าคงไม่โหดร้ายเกินไปนะครับ... แล้วเจ้าพระเอกของเราก็สามารถซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ เหล่านั้นที่เสียหายได้! เห็นมั้ยครับว่าน่าทึ่งแค่ไหน...
ไม่เท่านั้นครับ ยังมีการทดลองกับการทนต่อสารพิษอีกด้วย อันนี้ก็เพื่อจะดูเรื่องของการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมว่าอย่างนั้นครับ
เห็นมั้ยครับว่าเค้าเป็นผู้เยี่ยมยุทธและเป็นพระเอกของเราจริงๆ เรื่องราวต่างๆ ของปลาม้าลายยังมีอีกมากมายนะครับ ถ้าสนใจสามารถหาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะของไทยหรือต่างประเทศ คราวหน้าผมอาจจะเอามาเล่าให้ฟังอีกสักตอนนะครับ แล้วก็คงจะไปต่อที่เรื่องอื่นๆบ้าง
สำหรับวันนี้หวังว่าทุกคนคงจะสบายๆกับวันที่อากาศดีๆ และทำงานหรือพักผ่อนกันอย่างมีความสุขนะครับ สวัสดีครับ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น