วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

ความก้าวหน้าใหม่ๆในการทดลองเพื่อหาวิธีรักษาโรค VHL ครับ ความหวังใกล้เข้ามาเรื่อยๆครับ

Eric Jonasch 
Eric Jonasch, MD, member of the VHLFA Clinical Advisory Council and Chair of the Task Force on Clinical Trials

สวัสดีตอนสายๆของวันเสาร์ครับ

ผมปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบมาสิบกว่าวันแล้วยังไม่หายเลยครับ แต่ก็ไม่อยากพลาดโอกาสในการไปหาความรู้มาแชร์ให้อ่านกันสำหรับพวกเราผู้ป่วยทั้งหลายและญาติๆหรือผู้ที่สนใจด้วยครับ วันนี้ตั้งใจจะเอาเรื่องของการศึกษาวิจัยใหม่ๆมาเขียนกันครับ และครั้งต่อไปก็จะพยายามเอาเรื่องของการศึกษาวิจัยพวกนี้มาลงให้อ่านกันอีกเรื่อยๆครับ แต่ไม่กล้ารับปากว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเนื้อหาส่วนใหญ่พอเข้าไปดูแล้วแปลยากครับ เพราะว่านอกจากจะเป็นภาษาอังกฤษแล้วยังเป็นภาษาอังกฤษทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์เข้าไปอีก... บางครั้งก็ยังมีความสามารถไม่ถึงครับ .. แฮ่ๆ

สำหรับวันนี้ผมแปลมาจากข้อเขียนของคุณอีริก(ตามรูปข้างบน)ที่เขียนไว้ที่เว็บไซต์VHLFA ครับ ซึ่งอันนี้เป็นบทนำ ยังมีรายการศึกษาอื่นๆอีกมากมายที่เขียนไว้แบบมีรายละเอียดอีกหลายหัวข้อเลยครับ แล้วจะเอามาแปลให้อ่านกันในโอกาสต่อไปนะครับ สำหรับของคุณอีริกนั้นเชิญอ่านครับ...

การทดลองทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้หลายๆวิธีได้เน้นไปที่การหายาที่จะใช้จัดการกับเนื้องอกของหลอดเลือดอย่างหนึ่งและยับยั้งการสร้างใหม่ของหลอดเลือดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของยาที่ว่านี้จะทำให้ได้ยาที่มีผลกระทบข้างเคียงน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ ซึ่งหวังว่าจะมีการค้นพบตัวยาดีๆรุ่นใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ครับ คือพบว่าผู้ป่วยแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อตัวยาแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีประโยชน์ในการวิจัยต่อไปและค้นให้พบครับว่าอะไรเป็นอะไร (และอย่างไร)

มีรายงานการศึกษาเร็วๆนี้ระบุว่าผู้ป่วย VHL ที่ได้รับการรักษาด้วยยา Sutent (Sunitinib, Pfizer) จะมีการลดขนาดลงของมะเร็งที่ไตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลดังกล่าวได้ทำให้มีการทดลองใหม่ๆโดยการใช้ตัวยาที่คล้ายคลึงกัน คือตัวยา Votrient (pazopanib, GSK) ซึ่งได้เปิดทำการศึกษาไปเมื่อเร็วๆนี้ที่ศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน (MD Anderson Cancer Center) เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาครับ สำหรับผู้ป่วยที่จะได้รับการทดลองรักษาจะต้องเป็นผู้ป่วยที่พิสูจน์ทางพันธุกรรมแล้วว่าเป็นโรค VHL และมีอาการของโรคเกิดขึ้นในหลายๆแห่งของร่างกายที่สามารถตรวจพบได้ด้วยการทำ MRI หรือ CT สแกนครับ โดยผู้ป่วยจะได้รับยา Votrient เป็นเวลา 6 เดือน และจะได้รับการพิจารณาให้ทำการรักษาต่อก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วมีความเหมาะสมครับ โดยจะมีการสแกนร่างกายซึ่งจะกระทำ 3 ครั้ง คือก่อนได้รับยา Votrient หนึ่งครั้ง ครั้งต่อไปหลังจากได้รับยาแล้ว 3 เดือน และครั้งต่อไป 6 เดือนครับ

การศึกษาที่สองคือการทดลอง dovitinib (Novartis) สำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอก Hemangioblastomas (เนื้องอกในระบบประสาทส่วนกลาง เช่นเนื้องอกในสมองส่วนหลัง ในก้านสมอง หรือที่ไขสันหลังนั่นเอง) ซึ่งการศึกษานี้ได้เปิดในเดือนตุลาคม ปี 2012 (พ.ศ. 2555) ที่ศูนย์มะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้ารับการทดลองในกรณีนี้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการของเนื้องอกที่ระบบประสาทส่วนกลาง (hemangioblastoma) เกิดขึ้นโดยอาจจะมีอาการเนื้องอกที่อื่นๆร่วมด้วยก็ได้ การศึกษานี้มีพื้นฐานมาจากผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งถูกใช้การระงับกระบวนการทำงานของร่างกายด้วยยา dovitinib จะมีการเร่งของการเจริญเติบโตของหลอดเลือดในระบบประสาทส่วนกลาง(hemangioblastoma)นั่นเอง ในการรักษาจะใช้เวลา 6 เดือนโดยจะมีการสแกนร่างกาย 3 ครั้งด้วยเช่นกัน

ผู้สนใจเข้าร่วมการทดลองสามารถติดต่อได้ที่คุณ Cherie Perez ที่เบอร์ 713-563-1602 ครับ อ้อ อย่าลืมกดรหัสประเทศของอเมริกาด้วยนะครับ

เห็นมั้ยครับว่าอันที่จริงแล้วการทดลองและศึกษาวิจัยเพื่อหาหนทางในการรักษาโรคนี้นั้นมีการทำอยู่ตลอดเวลาซึ่งถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถค้นพบในตอนนี้แต่ก็มีความก้าวหน้าขึ้นทีละเล็กละน้อยนะครับ ความสำเร็จคงจะมีแน่ๆในอนาคต หวังว่าการค้นพบจะเกิดขึ้นในยุคเราๆนี่นะครับ หรืออย่างน้อยก็ขอให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้กันก็ยังดี

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดีครับ

3 ความคิดเห็น:

  1. ตอนนี้มียาสำหรับvhlแล้วนะค่ะ แต่ไม่มีในไทย เปนความหวังของคนไข้มากๆค่ะ belzutifan

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ก่อนอื่นต้องขอบคุณมากนะครับ สำหรับเรื่องยาต้องขอบคุณมาก ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดเลย ถ้ารักษาโรคนี้ได้ก็สุดยอดเลยครับ

      ลบ
  2. ศึกษาเรื่อง belzutifan มาพอสมควรค่ะ สุดท้ายคือสู้ราคาไม่ไหวค่ะ รอความหวังแบบลิบหลี่มากค่ะ

    ตอบลบ