วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

VHL ในไต อย่าได้นิ่งนอนใจครับ โอกาสเป็นสูงและอันตรายนะครับ

วันนี้เป็นวันหยุดสบายๆ ผมอยู่บ้านครับ เมื่อวันเข้าพรรษาที่ผ่านมาผมกับครอบครัวได้ไปทำบุญที่วัดกันครับ เอาอาหารไปถวายพระและยังเอาเทียนพรรษาไปถวายวัดด้วย ทึ่จริงในวัดก็มีไฟฟ้าใช้แล้วครับ แต่ว่าเป็นประเพณีตั้งแต่โบราณนานมาแล้วที่เราจะเอาเทียนไปถวายวัดกันในช่วงวันเข้าพรรษา สมัยก่อนก็เพื่อให้พระไว้ใช้จุดให้แสงสว่างด้วยครับ แต่สมัยนี้ก็มักจะใช้สำหรับจุดบูชาพระประธานในโบสถ์ครับ ได้ทำแล้วก็สบายใจ มีความสุข ความสงบเกิดขึ้นในใจ ตอนแห่เทียนรอบโบสถ์ก็สนุกไปอีกแบบนะครับ

วันนี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องโรค VHL ที่ขึ้นที่ไตครับ ตัวผมเองก็ผ่าตัดไตซ้ายออกไปแล้วเพราะเป็นมะเร็ง นอกจากนั้นต่อมหมวกไตขวาก็โดนตัดไปด้วย สำหรับต่อมหมวกไตขวาผมเป็นเนื้องอกครับ ภาษาแพทย์ก็เรียกชื่อว่า Pheochromocytoma ซึ่งที่จริงมีโอกาสพบได้ 10-20 % ในผู้ป่วยโรค VHL ครับ สำหรับอาการและผลของเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตผมคงจะมาเล่าให้ฟังกันที่หลังครับ วันนี้เอาเรื่องไตก่อนนะครับ ซึ่งผมเพิ่งได้รับการผ่าตัดไตซ้ายทิ้งไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เองครับ ตอนนี้อาการทั่วไปก็ปกติครับ ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติดีครับ แต่ผมก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินรวมทั้งต้องออกกำลังกายให้มากด้วยเพราะผมยังเป็นเบาหวานด้วยครับ เจ้าโรคเบาหวานนี้จากที่อ่านจากเอกสาร เค้าบอกว่าก็มีสาเหตุมาจากโรค VHL นี้ได้เหมือนกันครับ จากการที่เนื้องอกในตับอ่อนไปเบียดบังทางเดินของอินซูลินเลยทำให้ร่างกายได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ ซึ่งก็คงจะเล่าในตอนหน้าๆครับ เขียนมาตั้งนานยังไม่ได้เข้าเรื่องไตเลย เอาละครับ...

เนื้องอก หรือซีสต์ในไตมักพบได้ในสัดส่วน 25-60% ของผู้ป่วยโรค VHL นี้ครับ ก็นับว่าสูงอยู่เหมือนกัน ดังนั้นทุกท่านที่มีโอกาสหรือมียีน VHL ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะครับ ควรจะใส่ใจและหาโอกาสไปตรวจอยู่เสมอ เพราะโดยปกติ เมื่อเป็นเนื้องอกที่ไตในระยะแรกเริ่มจะไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกายใดๆ ครับ หรือแม้กระทั้งการตรวจปัสสาวะเองก็อาจบอกไม่ได้ครับ การตรวจที่จะบอกได้ก็ได้แก่ การตรวจ อุลตราซาวนด์ (ultrasound) การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography หรือ CT) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance emaging (MRI)) ครับ ซึ่งปัจจุบันนี้โรงพยาบาลใหญ่ๆ มักมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่พร้อมครับ โดยเฉพาะการตรวจอุลตราซาวนด์ ซึ่งใช้ในการตรวจผู้ตั้งครรภ์ด้วย ผมเข้าใจว่าน่าจะมีอยู่แทบทุกโรงพยาบาลมาตรฐานทั่วไปครับ มาต่อเรื่องไตอีกนิด ไตคนเรามีขนาดว่ากันง่ายๆก็ประมาณกำปั้นของเราครับ มีหน้าที่หลายอย่างที่ล้วนสำคัญกับร่างกายของเราทั้งสิ้น คนเราทุกคนมีไตคนละสองข้างครับ ถ้าเราถูกตัดไปแล้วข้างหนึ่ง เหลือไตอยู่ข้างเดียวเราก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิมทุกประการครับ เพียงแต่ว่าเราก็อาจจะกังวลมากขึ้น เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่าข้างที่เหลืออยู่มันจะทำหน้าที่ได้แบบปกติไปน่านเท่าไร แต่ก็ไม่ควรไปกังวลมากเกินไปครับ ทำในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้ดีที่สุดเพื่อที่จะรักษามันไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดครับ ความกังวลมากเกินไปไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาได้หรอกนะครับ ความรู้ความเข้าใจและอยู่กับความเป็นจริงต่างหากที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอดไป

สำหรับอาการที่พบที่ไตมักจะเป็นเนื้องอก (tumor) ได้มากกว่าถุงน้ำ (cyst) ครับ และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เรียกว่า renal cell carcinomas (RCC) ครับ ซึ่งแต่ก่อนเค้าเรียกว่า hypernephroma ครับ สำหรับชื่อภาษาอังกฤษก็ไม่ควรไปกังวลอะไรมากครับ ผมเพียงแต่เห็นว่าเป็นประโยชน์ตอนอ่านจากต้นตำรับภาษาอังกฤษก็เลยเอามาเขียนไว้เผื่อบางคนจะสนใจและไปค้นคว้าเพิ่มเติมเองครับ สำหรับอาการเริ่มแรกเหมือนที่เขียนไปตอนต้นๆแล้วว่าจะยังไม่ปรากฎครับ จนกว่าเจ้าเนื้องอกนี้จะโตมากถึงระดับหนึ่งนั่นแหละครับ ซึ่งเมื่อเป็นระยะแรกๆนี้แพทย์ก็มักจะยังไม่ทำอะไรหมายถึงยังไม่ทำการผ่าตัดให้ครับ โดยที่เจ้าเนื้องอกที่ไตนี้ก็จะยังไม่เป็นอันตรายอะไรเหมือนกัน ในทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่แนะนำโดยวงการแพทย์ทั่วโลกก็คือว่าถ้าเนื้องอกมีขนาดเกิน 3เซนติเมตร ก็จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดออกครับ ซึ่งในคนที่มีก้อนเนื้องอกหลายๆ ก้อนที่ไตพร้อมๆกัน แพทย์ก็คงจะผ่าตัดออกเท่าที่จำเป็น เพราะถ้าเอาออกหมดในคราวเดียวนอกจากตัวไตเองจะทนไม่ได้แล้วตัวเราเองก็คงทนกับบาดแผลไม่ได้เหมือนกันครับ และก็คงต้องลาโลกไปก่อนวัยอันควรครับ ... แฮ่ะๆ สำหรับกรณีของผมซึ่งเป็นมะเร็งที่ไตซ้ายเนื่องจากโรค VHL นี้ ยังโชคดีที่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นครับ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะตรวจหาเนื้องอกหรือมะเร็งที่ไตให้พบก่อนที่มันจะแพร่กระจายไปที่อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเจ้ามะเร็งที่ไตจากโรคนี้สามารถตรวจพบได้เร็วกว่ามะเร็งทั่วไป (เหตุผลหลักก็ไม่ทราบครับ คงต้องปรึกษาแพทย์หรือหาความรู้เพิ่มเติมกันอีกทีเอาเองนะครับ ขออภัยครับ) ซึ่งก็แน่นอนเมื่อเราตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสในการรักษาให้หายหรือผ่าตัดก็มีมากขึ้นครับ นั่นคือโอกาสรอดเพื่อมีชีวิตอยู่ทำความดีต่อก็มากขึ้นครับ สำหรับผมเองตอนที่รู้ว่าเป็นเนื้องอกที่ไตก็เกิดจากความบังเอิญครับ ที่จริงก็ทราบมาก่อนแล้วสองสามปีว่ามีเนื้องอกที่ไต แต่ว่าตอนที่ทราบมันยังมีขนาดเล็กอยู่ ยังไม่มีฤทธิ์เดชอะไร แพทย์ก็ไม่ได้แนะนำให้ทำอะไรกับมัน แต่อยู่ๆเหมือนจะไม่ทันตั้งตัว มันก็โตแบบพรวดพราดจนถึงขนาดต้องทำการผ่าตัดแทบจะทันทีครับ ก่อนที่จะตรวจเจอเจ้ามะเร็งนี้ วันนั้นผมจะไปทำบุญทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง แล้วอยู่ๆ ตอนเย็นวันที่ไปถึงนั่นเองผมก็ปวดท้องกระทันหัน ปวดท้องด้านข้างๆ ทางด้านขวาครับ ปวดแบบผิดปกติเพราะมันเริ่มจากปวดนิดๆ เหมือนคนปวดหลังเนื่องจากการปวดเมื่อยร่างกายธรรมดา แต่ที่ไม่เหมือนคือเจ้าอาการปวดนี้มันไม่หาย และต่อเนื่อง บางขณะก็รู้สึกเหมือนจะเป็นลม ยังนับว่าโชคดีที่ผมสังเกตุอาการผิดปกตินี้ได้ว่ามันไม่ธรรมดาแน่ และไหวตัวทันก็เลยเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ไปโรงพยาบาลเถินทันที ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในคืนนั้นด้วยครับ ที่เอาใจใส่ดูแลผมเป็นอย่างดีถึงแม้เครื่องไม้เครื่องมือจะมีไม่พอก็ตาม เจ้าหน้าที่ซึ่งคงจะเป็นแพทย์เวร พอทราบอาการผมและทราบประวัติว่าเคยผ่าสมองมาหลายครั้งก็คงเห็นท่าไม่ดีถ้าจะปล่อยไว้ที่นี่ เลยจัดการทำเรื่องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดลำปางครับ ที่โรงพยาบาลลำปางในกลางดึกคืนนั้นซึ่งน่าจะประมาณตีสอง แพทย์ที่ประจำการอยู่ก็ไม่สามารถจัดการดูแลคนไข้ที่หลั่งไหลเข้ามาได้อย่างทั่วถึงครับ คนที่นอนรออยู่ต่างก็ร้องโอดโอย ก็เลยทำให้ผมไม่มีอารมณ์จะร้องโอดครวญไปด้วย ฮ่าๆ ก็เพราะไม่อยากทำให้สถานการณ์มันวุ่นวายมากเกินไปนะสิครับ เลยนอนปวดแบบเงียบๆ สุดท้ายหมอก็ไม่สามารถแบ่งเวลามาให้ผมซึ่งนอนหมดหวังอยู่บนเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ ญาติก็เลยพาไปที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแพทย์เวรก็ฉีดยาระงับปวดให้ เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็เข้ากรุงเทพมารักษาต่อครับ หลังจากทำการตรวจอุลตราซาวนด์ และ CT แล้วก็เลยทราบว่าซีสต์ที่ไตขวาอาจจะติดเชื้อเลยทำให้ปวด และก็ยังพบว่าเป็นเนื้องอกที่ไตซ้าย และที่ต่อมหมวกไตขวาด้วย การรักษาต่างๆก็ตามมาครับ รวมเวลาที่แพทย์วินิจฉัยจนกระทั่งผ่าตัดไตซ้ายแล้วก็เป็นเวลา เกือบ 6 เดือนครับ ผมต้องขอขอบคุณทีมแพทย์ตั้งแต่โรงพยาบาลเถิน โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลศิริราชด้วยครับ ที่ทำให้ผมมีวันนี้ วันที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติครับ นี่ถ้าไม่เกิดการติดเชื้อที่ถุงน้ำจนนำไปสู่การตรวจพบมะเร็งที่ไตซ้าย ไม่รู้ว่าป่านนี้ผมจะเป็นอย่างไรนะครับ หรือถ้าขณะนี้ยังปกติอยู่ก็ไม่รู้ว่าในอีกสี่ห้าเดือนถัดไปจะเป็นอย่างไร ไม่อยากจะคิดว่ามะเร็งคงลุกลามไปแล้วนะครับ...บรื๋อ...

สำหรับคนที่เป็นถุงน้ำอย่างเดียวแพทย์จะไม่ทำการผ่าตัดให้ทันทีนะครับ ยกเว้นกรณีที่มีเนื้องอกร่วมด้วยจึงจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันครับ คงต้องปรึกษาแพทย์กันดีกว่านะครับ ว่าทำไม คราวนี้มาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องครับ คือบางคนอาจสงสัยว่าแล้วถ้าต้องตัดไตออกหมดทั้งสองข้างจะสามารถรับการบริจาคไตและผ่าตัดใส่ไตใหม่ได้หรือไม่ อันนี้ชัดเจนครับว่าได้ แต่ควรจะเป็นจากผู้บริจาคที่ไม่เป็นโรค VHL นะครับ เพราะว่าเนื้องอกในไตนั้นเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ภายในไตเองครับ

สำหรับวันนี้เขียนมายืดยาวก็เพราะหวังว่าจะเป็นความรู้และกำลังใจให้กับคนที่ต้องต่อสู้กับโรคนี้ครับ อย่าลืมว่าบางครั้งเราก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงโรคภัยต่างๆได้ทั้งหมด ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาครับ ที่สำคัญคือเราต้องมีสติ ต้องรู้ทันและเข้าใจชีวิต อย่าไปเสียเวลาเศร้าหรือเสียใจไปกับความเจ็บไข้ของเราเลย คนอื่นๆก็มีทุกข์ มีโรคเหมือนกัน แตกต่างกันที่ชนิดและอาการอะไรพวกนั้นเองครับ ยังมีเรื่องอะไรดีๆรอให้เราไปพบเจอและทำอีกมากมายนะครับ...

ยังมีเวลาให้เราอีกเยอะ...สนุกกับชีวิตนะครับ...

12 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้ เห็นภาพ และได้อารมณ์มากมาย ขอบคุณน้องที่แชร์ประสบการณ์ให้ได้ความรู้กันทั่วหน้า ไว้ถ้าพี่มีประสบการณ์ดี ๆ และเป็นประโยชน์ก็จะมาแชร์กันนะ
    ตอนนี้ก็เริ่ม ๆ แล้ว คือว่ามีอาการปวดหัวมาตั้งแต่วันที่17ก.ค. 54 และก็ปวดมาจนถึงวันนี้ (26 ก.ค. 54) ตอนนี้ทั้งมึน ทั้งหมุน และมีอาการ งง ๆ ร่วมด้วย บางครั้งก็เริ่มเดินเซหน่อย ๆ แล้ว เหมือนอาการของคนเมา ทั้งที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย
    นัดพบคุณหมอชนินทร์ วันเสาร์ที่ 6 ส.ค. นี้ที่ รพ.ศิริราช หากมีความคืบหน้าอย่างไร จะเข้ามาแชร์ใหม่นะจ๊ะ

    ตอบลบ
  2. ตอนนี้คุณแม้เป็นโรคนี้อยู่ค่ะ หมอนัดผ่าตัด 31 ก.ค นี้ รู้สึกเป็นกังวลมาก เพราะท่านก็มีหลายโรคมารุมเร่าอยู่แล้ว กลัวตอนผ่าตัดจะเกิดภาวะช็อกหรือมีผลข้างเคียง ได้อ่านบทความนี้ก็หายกังวลไปนิดึง ตอนแรกกลัวการผ่าตัดครั้งนี้มาก กลัวเป็นการต้องเสี่ยง แต่ก็เข้าใจว่าทถกการผ่าตัดทันก็ต้องเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ก็ต้องขอขอบคุณที่ให้ความรู้ดีๆค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมขออาราธนาอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกและที่น้องนับถืออยู่ขอจงช่วยให้คุณแม่ปลอดภัยและผ่านการผ่าตัดครั้งนี้ไปได้ด้วยดีครับ ในปัจจุบันคุณหมอท่านมีแนวทางการลดความเจ็บปวดที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆครับ ขอให้โชคดีครับ

      ลบ
    2. ตอนนี้แฟนก้อผ่าตัดไตออกเมื่อ 29/8/59 ค่ะ หมอพบมีเนื้องอกขึ้นกลางไต ขนาด 6.9 เซนต์ อาการคือมีเลือดออก เวลาปัสสาวะ 1 อาทิตย์ เลือดสดๆเลยค่ะ เราภาวนาว่า อย่าเป็นเนื่อร้าย
      สุดท้าย ได้รับข่าวดีจากหมอ เหมือนถูกหวยค่ะ เป็นแค่เนื้องอก ที่มีชื่อว่า Oncocytone Renal

      ลบ
    3. ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดีปนอยู่นะครับ ขอแสดงความยินดีกับคุณทั้งสองด้วยนะครับ สำหรับผมที่โชคร้ายมีเนื้องอกในสมองด้วยก็ยังมีความโชคดีปนอยู่ตรงที่ไม่ใช่เนื้อร้ายนี่แหละครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ

      ลบ
  3. ขอบคุณที่ให้ความรู้ และการให้กำลังใจ

    ตอบลบ
  4. อ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมา นิดนึงคะ ขอบคุณมาก

    ตอนนี้ลูกชายเพิ่งเกิดได้ 20 วัน หมอบอกมีเนื้องอกที่ไตด้านซ้าย ต้องผ่าออกเผื่อตรวจดูชิ้นเนื้อว่าเป็นอะไร สงสารลูกมากเลยคะ ไม่อยากให้ผ่าเลย

    ตอบลบ
  5. สวัสดีครับ ก่อนอื่นต้องขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ด้วยนะครับ แต่อย่างไรก็คงต้องบอกให้คุณแม่มีกำลังใจที่เข้มแข็งครับ และขอให้ลูกชายแข็งแกร่งต่อสู้กับโรคนี้ได้อย่างเข้มแข็งเช่นกันครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  6. อยากปรึกษาเจ้าของบทความนี้ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เพิ่มเพื่อนในไลน์ได้ครับ ถ้าสะดวก (ID: chanwichai) ยินดีเท่าที่จะมีความรู้ครับ

      ลบ
    2. ถ้าไม่เป็นการรบกวนผมขอแอดไลน์ปรึกษาได้ไหมครับ

      ลบ