สวัสดีครับ
อายุมากแล้วก็ยังเป็นเนื้องอกได้เหมือนกันครับ จากสถิติที่มีผู้ศึกษาไว้ (ฝรั่ง) เนื้องอกจากโรค VHL นี้สามารถพบได้จนถึงอายุ 80 ปีเลยทีเดียวครับ ซึ่งจะว่าไปแสดงว่าผู้ป่วยคนนั้นก็อายุยืนพอสมควรเลยที่อยู่มาได้จนถึงปูนนี้ วันนี้มีคนมาโพสต์ในเฟสบุ้คว่ามีญาติ (ผู้หญิง) เสียชีวิตตอนอายุ 76 ปี และเป็นเนื้องอกครั้งแรกตอนอายุ 60ปีครับ เนื้องอกจากโรค VHL นะครับ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกตอนอายุมากแล้ว อย่างกรณีของผมมีเนื้องอกในสมองครั้งแรกตอนอายุ 19ปี แต่ของลูกสาวนี่มาตอน 11ปีเลยครับ อันนี้ก็คงแล้วแต่กรณี ของใครของมันครับ บางคนก็จะพบว่าเป็นเร็วกว่านี้อีก คนใกล้ชิดคงต้องหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติต่างๆของร่างกายของคนใกล้ตัวหรือตัวเราเองให้ดีๆ บางครั้งอาการมันก็ไม่ได้ชัดเจนมากมายอะไรนัก อาจจะมีแค่มึนๆเล็กน้อยและนานๆครั้งอีกต่างหาก ถ้ามันเป็นแบบว่าวันสองวันมีอาการแค่ครั้งเดียวเราก็คงไม่ค่อยได้สนใจอะไรนักใช่ไหมครับ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นต่อเนื่องกันเป็นสองสามอาทิตย์แล้วล่ะก็ ผมว่าคงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้มันสายเกินไปแล้วล่ะครับ
สวัสดีครับ
วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
รายงานความก้าวหน้าในการทดลองยากับอวัยวะต่างๆ
Matterhorm, picture from nationalgeographic.com
สวัสดีครับ
วันนี้เข้าไปอ่านรายงานของเว็บ VHLFA เพื่อหาข้อมูลความก้าวหน้าในงานวิจัยต่างๆมาเล่าสู่กันฟังเหมือนเดิม แต่ก็ต้องผิดหวังครับ ผิดหวังในแง่ที่ว่ายังไม่มีรายงานการค้นพบยารักษาครับ แต่ที่ยังรู้สึกดีอยู่ก็ตรงที่เค้ายังพยายามกันต่อครับในการศึกษาวิจัยเพื่อหายามารักษากันให้ได้ต่อไป ในเมื่อบริษัทยาและคุณหมอรวมทั้งนักวิจัยต่างๆเค้ายังไม่ย่อท้อที่จะทำงานหนักกันต่อไป เราในฐานะที่เป็นผู้ป่วย(ซึ่งก็เหมือนลูกนกน้อยๆที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้) ก็ต้องคอยกันต่อไปให้ได้ด้วยนะครับ...
ข้อมูลล่าสุดได้กล่าวถึงผลการวิจัยต่างๆที่สหรัฐอเมริกา (U.S. National Institutes of Health (NIH)) ได้กล่าวสรุปถึงผลการวิจัยทางยาสำหรับกรณีของเนื้องอกในอวัยวะต่างๆไว้ดังนี้ครับ
ตา - จนถึงปัจจุบัน เนื้องอกในตา (จากโรค VHL) ยังไม่มีการตอบสนองต่อยาที่วิจัยกันขึ้นมา พูดง่ายๆก็คือยังไม่มีการค้นพบยาที่จะใช้รักษาเนื้องอกในตาครับ ยาที่มีการวิจัยกันขึ้นมาใหม่ๆนั้นยังไม่สามารถใช้รักษาอาการเนื้องอกเนื่องจากโรค VHL ที่เกิดขึ้นในตาได้ ดังนั้นปัจจุบันนี้วิธีการรักษาก็ยังเป็นแบบเดิมคือต้องทำการยิงเลเซอร์เพื่อไปฆ่ามันครับ (ฟังดูโหดไปหน่อย แต่ก็นะ...)
เนื้องอกในระบบประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง) - ยาที่ค้นพบในชุดแรกๆ (Avastin, Sutent) ยังไม่สามารถใช้รักษาได้ แต่ก็ยังมีความหวังในตัวยาชุดต่อๆไปซึ่งจะพยายามหาวิธีการในการต่อสู้กับอาการเนื้องอกพวกนี้ในหลายๆแนวทางต่อไป ก็ต้องหวังกันต่อไปครับ ที่จริงแล้วเนื้องอกในสมองนั้นฟังดูน่ากลัวมากครับ แต่เท่าที่ผมสังเกตมามักไม่ค่อยมีคนเสียชีวิตเพราะมีเนื้องอกในสมอง (เนื่องจากโรคนี้)สักเท่าไรนะครับ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ทำให้การผ่าตัดรักษาโรคสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ ไม่เท่านั้นวิทยาการในการลดความเจ็บปวดยังดีขึ้นกว่าเดิมมากอีกต่างหาก บางครั้งเลยกลายเป็นว่าความเจ็บปวดที่มีในการกระบวนการรักษานั้นเกิดขึ้นมากในขณะฉีดยาหรือเย็บแผลนั่นต่างหาก
การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากเนื้องอกที่ไตที่กลายเป็นมะเร็งและเสียชีวิตเนื่องจากมะเร็งที่ไตนั่นเองครับ ดังนั้นในปัจจุบันการวิจัยจึงได้เน้นไปที่การหาวิธีรับมือกับมะเร็งที่ไตครับ
ไต - เหมือนที่กล่าวไว้แล้วข้างบนครับว่าตอนนี้การรักษาได้เน้นไปที่มะเร็งในไต ตอนนี้มีการทดลองยาอยู่ถึง 25 ชนิดสำหรับการรักษาที่ไตโดยเฉพาะแต่ก็ยังไม่เห็นผลชัดเจนอะไรนัก แถมยังมีปัญหาผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างเยอะอีกด้วย ก็รอกันต่อไปครับ
ตับอ่อน - ในด้านนี้ก็ยังมีการทดลองกันต่อไปครับ รวมทั้งจะมีการศึกษาด้วยว่าเนื้องอกในตับอ่อนจะสามารถกลายไปเป็นมะเร็งได้หรือไม่
ฟีโอ (Pheochromocytoma) หรือเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต - อันนี้ก็ยังมีการวิจัยกันอยู่ครับ ยังหาวิธีจัดการไม่ได้สักที เท่าที่ผ่านมาก็ผ่าตัดเอาออกครับ (อย่างกรณีผมก็เอาออกทั้งต่อมหมวกไตเลยครับ ไม่เป็นไรครับ มันมีสองข้างเอาออกข้างเดียวก็ยังพอได้ครับ...)
อาการที่กล่าวมาผมเป็นและได้รับการผ่าตัดมาหมดแล้ว ทั้งที่สมอง ตา ไต ต่อมหมวกไต ตับอ่อน (อันนี้ยังไม่ได้ผ่าออก) ซึ่งก็ยังรอความหวังเหมือนกับท่านอื่นๆอยู่เหมือนกัน ถึงแม้ยาพวกนี้อาจจะไม่ได้ใช้ในรุ่นผม ขอให้รุ่นลูกได้ใช้ก็ยังดีครับ
ขอให้มีความสุขในวันหยุดกันทุกคนครับ สวัสดีครับ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)